วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

อมตธรรมคำสอน...หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน


อมตธรรมคำสอน

(หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

            ๑. กิเลสเกิดที่จิต นิพพานก็เกิดที่จิต กิเลสเป็นอกาลิโก  ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เป็นอกาลิโกเช่นกัน กิเลสไม่ตาย เราตาย   
         ผลงานของกิเลสก็คือความทุกข์ มรดกของกิเลสก็คือความทุกข์ อยู่กับกิเลสอย่างหยาบเหมือนถูกภูเขาทับ อยู่กับกิเลสอย่างกลางเหมือนถูกเสี้ยนหนามตำ อยู่กับกิเลสอย่างละเอียดเหมือนผงเข้าตา 

            ๒. ธรรมเป็นของจริง กิเลสเป็นของปลอม สังขารเกิดเพราะมีอวิชชาหนุน อวิชชาเป็นรากเหง้าต้นตอของกิเลส  ซึ่งละเอียดลออมาก แบบมองไม่เห็น คิดไม่ถึง ดูก็ไม่รู้ 

            ๓. กิเลสมันจรมาเคลือบจิต แฝงอยู่ในจิต เป็นของปลอม เป็นสิ่งหลอกลวง กิเลสทุกประเภทไม่อาจอยู่เหนือสติปัญญา กิเลสผาดโผนต้องใช้สติปัญญาผาดโผน 
          กิเลสทันสมัย ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ทันสมัยเช่นกัน เพราะเกิดได้ทุกกาลเวลา

            ๔. ขันธ์ ๕ เป็นเครื่องใช้ของกิเลส เราต้องเปลี่ยนเอามาเป็นเครื่องมือปราบกิเลส  
          สังขาร เป็นทั้งสมุทัย(ปรุงแต่งเหตุแห่งทุกข์) เป็นทั้งมรรค (คือเครื่องมือประหัตประหารกิเลส) สัญญาละเอียดกว่าสังขารมาก เป็นเครื่องมือของกิเลส

            ๕. อย่าปล่อยให้กิเลสมาเหยียบพระนิพพานให้จมหายไป และอย่าให้กิเลสสลัดธรรมออกไป เหมือนสาดน้ำใส่หลังหมา หรือหมาโดนฝน มันจะสลัดน้ำออกจากขนของมันทันที และอย่าเอากิเลสมาเป็นอารมณ์  
         จงเอาใจเราคืนมาจากกิเลส อย่าปล่อยให้ใจเป็นบัลลังก์หนังหมาเน่า ให้กิเลสนั่งบัญชาการต่อไป   
          เอาใจของเราเป็นบัลลังก์แก้ว รองรับคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ ก็จะพบกับอมตธาตุ อมตธรรม

           ๖. ปริยัติเปรียบดังแบบแปลนสร้างบ้าน  ปฏิบัติเปรียบดังการลงมือสร้างบ้าน ปฏิเวธเปรียบดังการเข้าไปอยู่ในบ้านเรียบร้อยแล้ว

            ๗. จิตไม่เสื่อมเป็นผลของการภาวนา  บุญทุกอย่างที่สร้างไว้ทุกภพทุกชาติ มารวมตัวอยู่ที่การภาวนา  เห็นได้จากการภาวนา  
          จิตนี้ไม่มีตาย เชื้อของภพชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ อวิชชาเป็นรากฐานสำคัญ
 
            ๘. การมองเห็นร่างกายเป็นสุภะ(งาม) หรืออสุภะ(ไม่งาม) คือการหลอกลวงของจิต จิตหลอกจิตของตนให้หลง เป็นอวิชชา

            ๙. เรามองเห็นโลกว่างไปหมด แต่ตัวเรายังไม่ว่าง ยังมีตัวมีตนอยู่ แล้วจะว่างจริงๆ ได้อย่างไร   
          เราคิดว่าจิตของเราว่างแล้ว เหมือนเราเข้าไปอยู่ห้องว่างนั่นแหละ เห็นห้องว่าง แต่ตัวเราไปขวางอยู่ในห้องนั้น จะว่างได้อย่างไร อวิชชายังมีอยู่เต็มหัวใจ  
          อวิชชาเป็นจอมกษัตริย์ครองไตรภพ จิตที่บริสุทธิ์แล้ว แม้แต่เงาของสมมุติก็ไม่ปรากฏ

            ๑๐. อัตตาตัวตนมี โลกจึงมี ถอนอัตตาตัวตนออกเสีย โลกก็ว่างไม่มี  
          ดังพระพุทธเจ้าตรัสสอนพระโมฆราชว่า "ดูก่อนโมฆราช ! เธอจงมีสติมองเห็นโลกนี้เป็นของว่างทุกเมื่อ แล้วถอนอัตตาตัวตนเราเขาออกเสีย เมื่อนั้นมัจจุราชก็มองไม่เห็นเธอ"  
         ดังนั้น จงปล่อยทั้งภายใน ปล่อยทั้งภายนอก วางทั้งภายใน วางทั้งภายนอก ว่างทั้งภายใน ว่างทั้งภายนอก เข้าสู่ธรรมธาตุ เป็นอมตธาตุ อมตธรรม พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง
 
          ๑๑. สมาธิเป็นเครื่องสงบใจ ส่วนเรื่องการปล่อยวาง เป็นเรื่องของปัญญา ละกามราคะได้ เป็นพระอนาคามี ละอวิชชาได้ เป็นพระอรหันต์


            ๑๒. จิตที่ตั้งไว้ผิด จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรายิ่งกว่าศัตรูคู่เวร ไม่มีใครทำร้ายเราได้มากเท่ากับเราทำร้ายตนเอง  ไม่มีใครต้มตุ๋นเราเท่ากับเราต้มตุ๋นตนเอง  ไม่มีใครหลอกลวงเราเท่ากับเราหลอกลวงตนเอง ก็คือกิเลสหลอกจิตนั่นเอง 
          จิตถูกครอบงำด้วยอวิชชา ต้องใช้สติปัญญากำจัด เพราะอวิชชาเป็นกิเลสที่ละเอียด และแหลมคมมาก ต้องใช้สติปัญญาคอยปกปักรักษาตลอดเวลา
 
            ๑๓. อวิชชาเปรียบเสมือนโจร และเป็นหัวหน้าโจรแอบซ่อนอยู่ภายในจิต และคอยปล้นจิตอยู่ตลอดเวลา ต้องใช้สติปัญญาเป็นองครักษ์พิทักษ์รักษาจิต


        ๑๔. การพิจารณาปฎิจจสมุปบาท เป็นอุบายให้เกิดปัญญา เห็นสังขารปรุงแต่ง เพราะอวิชชาความไม่รู้ทุกสรรพสิ่งที่อยู่รอบล้อมตัวเรา เมื่อรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงแล้ว(คือ อนิจจจัง ทุกขัง อนัตตา) ก็หยุดการคิดปรุงแต่ง (สังขาร) จิตก็ว่าง... เพราะหมดงานทำแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป (ไม่มีกิจอื่นต้องทำอีก)..... 



            ๑๕. อดีตก็รู้เท่า อนาคตก็รู้ทัน ปัจจุบันก็ไม่ยึดติด ในสิ่งที่เราได้  สิ่งที่เรามี  สิ่งที่เราเป็นนั้น ซึ่งเป็นผลงานของจิตสร้างสรรค์ปั้นแต่งขึ้นด้วยอำนาจของกรรมดี หรือกรรมชั่ว บุญหรือบาป  จึงมีผลเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง 
        ความยินดีในธรรมชนะความยินดีทั้งปวง รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง เมื่อมีฐานแห่งธรรมเป็นเครื่องรองรับภายในใจอยู่แล้ว



            ๑๖. ทุกอย่างเกิดที่จิต และดับที่จิต ไม่มีอะไรจริงเท่ากับจิต ไม่มีอะไรปลอมยิ่งกว่าจิต ไม่มีอะไรดีเท่ากับจิต ไม่มีอะไรเลวยิ่งกว่าจิต ไม่มีอะไรละเอียดเท่ากับจิต ไม่มีอะไรร้อนเท่ากับจิต และไม่มีอะไรเย็นยิ่งกว่าจิต และไม่มีอะไรวิจิตรพิสดารเท่ากับจิต
 


            ๑๗. อานิสงส์ของการฟังธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ได้ยินได้ฟังสิ่ง ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เข้าใจสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วชัดเจนดียิ่งขึ้น บรรเทาความสงสัยเสียได้ ทำความเห็นให้ถูกต้อง และจิตผู้ฟังย่อมสงบผ่องใส เมื่อจิตสงบผ่องใส รสของธรรมก็จะปรากฏขึ้นที่ใจ นักปฏิบัติธรรมนั้น จึงมีการฟังธรรมเป็นสำคัญ 



            ๑๘. ให้มีสติรักษาธรรม ให้ธรรมรักษาใจ กิเลสกลัวธรรม ถ้าธรรมมากิเลสหมอบ แต่ถ้าธรรมไม่มีกำลังจะฆ่ากิเลสไม่ได้ ธรรมต้องมีกำลังเหนือกิเลส จึงจะฆ่ากิเลสได้ 


            ๑๙. อยากให้กิเลสหลุดลอยไป ต้องบวชใจตนเองโดยการละเว้นสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจ มีอารมณ์เป็นสำคัญ สมุทัยก็ไม่ใช้อารมณ์ทางใจที่แสดงออกมา ตัวสมุทัยคืออวิชชา กิริยาที่แสดงออกมา ก็แสดงออกมาโดยทางอารมณ์


            ๒๐. การพิจารณาอสุภะ อสุภังนี้ เป็นไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึง อนัจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด ปัญญาจะเดินตลอดทั่วถึงไปหมด เช่นรูปขันธ์ ที่เคยเห็นว่าสวยงามน่ารักใคร่ ชอบใจ กำหนัดยินดี ตามที่กิเลสมันเสี้ยมสอนมา ตั้งแต่กาลไหนๆ ทำสัตว์โลก ให้หลง ให้ตื่นไม่มีวันอิ่มพอ..ใช้ปัญญาสอดแทรกเข้าไปตรงนั้น จนพิจารณาหาความสวยความงามไม่ปรากฏ มีแต่อสุภะอสุภัง เต็มเนื้อเต็มตัว จนกระทั่งว่าราคะนี้ไม่ปรากฏค่อยๆ หมดไปๆ 


            ๒๑. ค้นหาความตาย "จิตเป็นอมตัง"(อมตะ คือไม่ตาย) ทั้งที่มีกิเลส และสิ้นกิเลสแล้ว ร่างกายอันประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ไม่ตาย เมื่อหมดลมหายใจ ดินก็กลับไปเป็นธาตุดินตามเดิม น้ำก็กลับไปเป็นธาตุน้ำตามเดิม ลมก็กลับไปเป็นธาตุลมตามเดิม  ไฟก็กลับไปเป็นธาตุไฟตามเดิม
          
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น