วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

กัมมัฏฐาน ๕ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน


     
พระเวลามาบวชแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติต่อหน้าที่การงานของตน เวลาบวชทีแรกท่านก็ประทานอาวุธอันสำคัญให้ เป็นทั้งฝ่ายสมถะคือความสงบร่มเย็น โดยอาศัยกรรมฐาน ๕ เป็นเครื่องบริกรรม เป็นได้ทั้งวิปัสสนาแยกแยะกรรมฐาน ๕ คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี้เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา การบวชเบื้องต้นจะพิจารณาหรือบริกรรมคำใดในกรรมฐาน ๕ นี้ ก็บริกรรมตามจริตนิสัยชอบของตน มีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาให้จิตอยู่กับคำบริกรรม มีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น อาการใดอาการหนึ่ง เป็นเครื่องผูกมัดจิตใจ ให้จิตใจได้เกาะได้ยึดกับกรรมฐานบทนั้นๆ ด้วยความมีสติจดจ่อติดเนื่องกันไปโดยลำดับลำดา นี่ท่านเรียกว่าภาวนา
ภาวนาเป็นคำกลางๆ การสอนผู้สอนไม่เคยภาวนาก็สอนแบบงูๆ ปลาๆ ไปอย่างนั้นแหละ และผู้ทำก็ทำแบบงูๆ ปลาๆ สุดท้ายที่ได้มาก็ไม่ทราบ งูๆ ปลาๆ เลยคละเคล้ากันไปหมด ไม่ได้ผลประโยชน์แต่อย่างใด การสอนนี่ท่านสอนเช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราจะนำเกสามาเป็นคำบริกรรมด้วยความมีสติสืบเนื่อง หรือติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับลำดา ไม่ยอมให้เผลอกับคำบริกรรมนั้นๆ ที่เราชอบใจนำมาบริกรรมอย่างนี้ก็ได้ ในกรรมฐาน ๕ มีสติกำกับอยู่กับเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
ท่านพูดเพียงตโจ นี่ก็เพราะถึงประโยคใหญ่แล้ว ตโจก็คือหนัง ที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล หลงเขาหลงเรา ภูเขาภูเราอยู่เวลานี้ ก็เพราะหนังบางๆ นี่เท่านั้นแหละ ไม่ได้หนาอะไรเลย นี่ละปิดหูปิดตาสัตว์ทั้งหลายไว้ ให้เป็นของมีค่ามีราคาขึ้นมา ทั้งๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีค่ามีราคาอะไรแหละ พอหนังหุ้มห่อเข้าไปแล้ว ก็เลยกลายเป็นของมีค่ามีราคาไป ท่านจึงสอนให้พิจารณาถึงหลักความจริง สำหรับผู้ต้องการให้หลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริงแล้ว ให้ถืองาน ๕ ประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญแห่งการพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นคำบริกรรมกำกับก็ได้
จากนั้นก็พิจารณาเข้าไปถึงภายใน ถึงตโจแล้วก็เข้าไปภายใน เนื้อหนังมังสัง อาการ ๓๒ เต็มอยู่ภายในนี้ ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นของปฏิกูลโสโครกหมด ให้พิจารณาด้วยสติปัญญา แล้วใจจะค่อยเข้าอกเข้าใจตามหลักความเป็นจริง ที่มีอยู่ในกายเขากายเรา แล้วความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด และกองทุกข์ทั้งหลายที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็จะจางลงไปๆ

อุปาชีวก จากพระไตรปิฎก


อุปกาชีวก
                พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาตอบอุปกาชีวกที่กราบทูลถามว่า พระองค์บวชอุทิศใคร  ใครเป็นศาสดาของพระองค์ว่า ...
                 เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง  รู้ธรรมทั้งปวง มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง  ละธรรมทั้งปวงได้สิ้นเชิงหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา  ตรัสรู้ยิ่งเอง  แล้วจะพึงอ้างกล่าวใครเล่า
        เราไม่มีอาจารย์  เราไม่มีผู้เสมอเหมือน  เราไม่มีผู้ทัดเทียม
ในโลก  กับทั้งเทวโลก  เพราะเราเป็นอรหันต์  เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
 เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเองเพียงผู้เดียว  เป็นผู้เยือกเย็น  ดับกิเลสได้แล้วในโลก
            ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว  ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา  อุปกะ !  เราชนะความชั่วได้แล้ว  เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า พระชินะ

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ความตายไม่มีจริงในโลก



                                      
           "ความตายไม่มีจริงในโลก"

     อันว่าความตายตามโลกสมมุติบัญญัตินั้น เป็นความหลอกลวงของรูปนามในจักรวาล ไม่ใช่ความจริงแท้

     ธาตุทั้ง ๔ ในกายนั้น มิได้ตายหรือสูญสลายหายไปจากโลก ส่วนจิตนั้นก็ไม่ตาย เป็นธาตุอมตะ ว่างเปล่า ไร้ตัวตน ไม่มีผู้สร้าง และมิอาจทำลายได้ แต่มีธรรมชาติเป็นผู้รู้หรือธาตุรู้ มีชื่อเรียกว่า "จิตธาตุบ้าง มโนธาตุบ้าง วิญญาณธาตุบ้าง"

      ร่างกาย(รูป) อันประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ดิน ลม ไฟนี้ เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่น่ายินดี หาได้เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่ เราได้มาอาศัยรูปนี้ด้วยอำนาจของกรรม (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)ที่เป็นกุศล หรืออกุศล

      ธาตุทั้ง ๔ นี้ ไม่ได้ตายไปจากโลก ไม่ได้สูญสลายหายไปจากโลก เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็แตกสลายไป กลับไปเป็นธาตุเดิมของเขา

       ดินกลับไปเป็นดิน น้ำกลับไปเป็นน้ำ ลมกลับไปเป็นลม ไฟกลับไปเป็นไฟ

       ส่วนนาม(น้อมไปได้: คือจิต ซึ่งเป็นผู้รู้) ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เป็นอาการของจิต หาได้เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่เช่นกัน เกิดขึ้นโดยอาศัยรูปเป็นเหตุ ผ่านทางอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบสัมผัสกับอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์
   
     ตามความเป็นจริงแล้ว รูปเป็นสักแต่ว่าธาตุของโลก ไม่ใช่เรา มิใช่ของเรา ส่วนนามทั้ง ๔ นั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยรูปด้วยอำนาจของอวิชชาคือกิเลส จะเป็นเรา เป็นของเราได้อย่างไร

      จิตได้เข้ามาอิงอาศัยรูป เป็นเครื่องอยู่ เครื่องอาศัย เครื่องรู้ เครื่องระลึก ชั่วขณะหนึ่งตามอำนาจของกรรมในภพชาติหนึ่งๆ เท่านั้น เราคือจิต และความจริงแท้แม้แต่จิตก็ไม่ใช่เรา   

     รูปมิใช่เรา มิใช่ของเราจริง แต่เป็นเพราะอวิชชา (ความไม่รู้จริง ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เพราะขาดการคิดพิจารณาหาความเป็นจริง: โยนิโสมนสิการ) จิตจึงหลงยึดถือเป็นตน เป็นของตน

    อวิชชานั้น เป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปฯ ตามปฏิจจสมุปบาท

    เมื่อหลงยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตนเป็นของตนย่อมเป็นทุกข์ เพราะขันธ์มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาตามกฎของธรรมชาติ(ไตรลักษณ์ : อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ถ้ายึดมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดเลยก็ไม่ทุกข์เลย

     ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ก็คืออุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง เพราะอุปาทานขันธ์ ๕ จึงเกิดตัณหา ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันเป็นเหตุแห่งทุกข์(สมุทัย) มรรคมีองค์ ๘ (ว่าโดยย่อ: ศีล สมาธิ ปัญญา) เป็นสายกลางเพื่อการดับทุกข์ (นิโรธ)ผู้ปฏิบัติจะรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ซึ่งรู้ได้เฉพาะตน


     "จิตเป็นธาตุรู้" พร้อมที่จะรู้ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่สิ่งที่จิตรู้ มักจะรู้ผิดซึ่งเป็นความหลง

    เมื่อฝึกฝนอบรมจิตด้วยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว นามทั้ง ๔ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ที่เกิดขึ้นทางใจด้วยอำนาจของกิเลสทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด จะค่อยๆ ดับหมดไปด้วยความเพียร

      พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ชี้ทางสว่างแห่งปัญญาแก่ผู้ที่หลงทาง ดุจดังส่องประทีปให้ในที่มืด เปิดของที่ปิดอยู่ให้เราเห็น หงายของที่คว่ำอยู่ให้เราดู

      ศาสนิกชนผู้ได้สดับแล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติตาม จะสามารถออกจากข่ายแห่งความหลงนี้ไปได้ พระคุณของพระพุทธองค์นั้นมีมากเกินกว่าที่จะประมาณได้ เป็นบุญของเราแล้วหนอที่ได้เกิดมาพบพระศาสนาของพระองค์ สาธุ สาธุ สาธุ.