วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อวิชชาถูกทำลาย สังขารดับ ...พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ



 อวิชชาถูกทำลาย สังขารดับ

สมาธิตื้นตื่นมีสติระลึกรู้ หยุดปรุงแต่ง

เกิดเป็นมหาสติ แจ้งในขันธ์ ๕

พระธรรมเทศนา พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

วัดหลวงขุนวิน  ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

*********



           การประพฤติปฏิบัติของผู้ปฏิบัติธรรมนั้น เสมือนกับว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่อีกฝั่งหนึ่ง แล้วเราอยู่อีกฝั่งหนึ่ง กำลังจะข้ามไปสู่ฝั่งโน้น  การแสวงหาในสิ่งที่ยังไม่รู้เหมือนการหาทางข้ามฟาก เราจะรู้ได้ต้องกำหนดรู้ให้ละเอียดก่อน ธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในใจของเราทุกคนในโลกนี้ ก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ   กิเลส ๓ ตัวนี้ชักจูงใจเราไปในอารมณ์ต่างๆ การปล่อยใจตามอารมณ์ต่างๆ ทำให้เราร้องไห้ หัวเราะ มีทั้งสุขและทุกข์ แต่เมื่อประพฤติปฏิบัติกัมมัฏฐานจึงรู้ว่า  ความสุขที่แท้จริง คือ ความสงบ ไม่ใช่ความสุขที่จิตต้องวิ่งตามอารมณ์ตลอดเวลา  แต่ความสุขในธรรมที่เกิดจากความสงบระงับนั้น เราไม่สามารถทำให้เกิดอยู่เนืองๆได้ จึงเกิดความสงสัยขึ้นว่า เราควรจะทำอย่างไร? การฝึกฝนอบรมด้วยวิธีการต่างๆ ก็ทำได้ยาก เพราะใจยังไม่ยอมรับทีเดียว เนื่องจากใจยังมีความหลงอยู่

ถ้าเราต้องการความสุขที่สงบจากอารมณ์ เราต้องสลัดอารมณ์น้อยใหญ่ทั้งหมดที่ปรุงแต่งขึ้นมา ทิ้งไปให้หมด ทิ้งไปให้ได้ ไม่ให้มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันจิต ต้องทำลายไม่ให้มีอารมณ์อะไรเหลืออยู่เลย แต่ไม่ใช่แยกจิตเหมือนแยกคนสองคนออกจากกัน เราต้องอบรมจิตให้เห็นโลกโดยความเป็นโลก ให้เห็นอารมณ์น้อยใหญ่ที่มีอยู่ในจิต เมื่ออบรมจิตให้มากๆจนจิตเห็นโทษของอารมณ์ จึงจะพรากจิตออกจากอารมณ์ได้อย่างถาวร  

มรรคาที่ถูกต้อง ควรจะเดินไปตามทางที่ไม่ใช่เส้นทางเดิมที่เราเดินอยู่  ทางเส้นเดิมต้องกำจัดทิ้งไป แล้วเดินทางเส้นใหม่ที่จิตไม่เคยเดิน ทางนั้น คือ  มรรคมีองค์ ๘ โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า  ในการดำเนินไป  โดยมีองค์มรรคอีก ๗ ข้อ คือ  สัมมาสังกัปโป(ความดำริชอบ) สัมมาวาจา(การพูดจาชอบ) สัมมากัมมันโต(การทำการงานชอบ) สัมมาอาชีโว(การเลี้ยงชีวิตชอบ) สัมมาวายาโม(ความเพียรชอบ)  สัมมาสติ(ความระลึกชอบ)  และสัมมาสมาธิ(ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นบริวารห้อมล้อมอยู่  จึงจะเป็นสมาธิที่ถาวรยั่งยืนนานตลอดเวลาได้

ความเห็นแจ้งต้องเป็นสัมมาสมาธิจึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สัมมาสมาธิเป็นสิ่งสูงสุด สมาธิเป็นการทำให้จิตนิ่งด้วยอุบายต่างๆมีหลายอย่าง  สมาธิชอบ คือ สมาธิที่กำจัดกิเลสได้ จึงเป็นสมาธิตลอดกาลได้ สมาธิแบบนี้มีแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงค้นคว้าเกี่ยวกับสมาธิ การเพ่งในจิตเป็นฌาน เป็นการดิ่งเข้าไปในจิต ทำให้จิตนิ่งจนเป็นฌาน คือ รูปฌานและอรูปฌาน เมื่อจิตคลายตัวสู่ภาวะปกติ จิตก็จะกลับเข้าสู่สภาวะธรรมชาติเดิม  ในขณะเข้าสมาธิอยู่นั้นกิเลสเกิดไม่ได้ เมื่อออกจากสมาธิจิตก็เข้าสู่สภาวะเดิมอีก  สมาธิเช่นนี้ไม่สามารถลบล้างอารมณ์เดิมได้  เพียงแต่กิเลสหลบเข้าไปเท่านั้น  พระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยว่า การทำสมาธิถึงที่สุดตามที่ครูทั้งสอง คือ ท่านอาฬารดาบส และท่านอุทกดาบสได้สอนไว้  จิตหลบไปในขณะอยู่ในสมาธิ เมื่อออกจากสมาธิก็เป็นเหมือนเดิม ละกิเลสไม่ได้  

การปฏิบัติให้พ้นทุกข์นั้นต้องกำหนดว่า  สิ่งที่ดับกิเลสทั้งหมดได้นั้นมีอยู่  จึงจะหาทางดับกิเลสได้  การทำสมาธิแบบสมถะให้เป็นรูปฌานหรืออรูปฌาน  ไม่สามารถบรรลุความสูงสุดแห่งการดับกิเลสได้  การค้นคว้าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ฝึกอย่างถูกต้องแล้ว จิตกับอารมณ์ต้องพรากจากกันทุกสภาวะทุกอารมณ์ แม้ออกจากสมาธิ การทำสมาธิแบบมองเห็นกายในกาย คือ กายคตาสติ  ด้วยการพิจารณาอาการ  ๓๒  ของเราให้อยู่ในวงแคบ มีขอบเขตที่แคบลง  ไม่เหมือนการส่งจิตออกนอกที่กว้างใหญ่ เหมือนท้องทะเลท้องน้ำที่กว้างใหญ่เคว้งคว้าง ยากที่จะทำความเพียร เหนื่อยแล้วยังไม่มีที่ยุติ เราพิจารณาให้เกิดทั้งรู้ทั้งเห็นอวัยวะภายในร่างกาย ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำปัสสาวะ มันสมอง  ให้รู้แจ้ง เมื่อออกจากสมาธิที่ผ่านการพิจารณากายคตาสตินี้ บรรลุถึงความเห็นแจ้งทั่วร่างกายแล้ว กิเลสย่อมไม่มีในทุกสภาวะ  ความจริงก็เป็นอย่างนั้น นั่นหมายถึงการมีสมาธิตลอดเวลา ไม่เว้นในสภาวะใดสภาวะหนึ่ง      
        พระพุทธองค์ทรงค้นคว้าแสวงหาโมกขธรรม ทรงพบว่าจิตที่สงบลงมากในสมาธิแบบสมถะนั้น ความพ้นทุกข์ก็หาได้มีไม่ ทรงมองเห็นเช่นนี้เมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ ทรงกำหนดรู้เห็นโทษของอารมณ์ที่เกิดจากกิเลสก่อน  เมื่อจิตเห็นคุณเห็นโทษตามความเป็นจริง  จิตจึงจะมีกำลังก้าวออก

กิเลสอะไรที่มีในจิต  น้อมเอากิเลสนั้นมาพิจารณาให้เห็นคุณและโทษ กิเลสเกิดทางไหน? หน้าตาเป็นอย่างไร?  กิเลสเกิดผ่านทางประตูทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น  กาย ใจ  ใจรับรู้ทั้งหมด แม้เราหลับตากิเลสก็เกิดทางใจ  หน้าตาของกิเลส คือ อารมณ์ที่ผุดขึ้นมาทางจิต  จิตเป็นปัญญา(ผู้รู้) มี    ประตูเปิดอยู่ จะออกประตูไหนจับให้ได้ จับมาพิจารณาให้รู้คุณโทษก่อนจึงค่อยหาทางออก ถ้าจิตอยู่ในอารมณ์อันใดในขณะเกิดอารมณ์ครั้งแรก เรียกว่า นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย  อะไรเป็นที่หมายที่ตั้งของอารมณ์ราคะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นและพอกพูนขึ้น สิ่งนั้นเรียกว่า สุภนิมิต  (สุภ แปลว่า  งาม, นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย) ที่วกวนไปมาอยู่ในกิเลส ๓ ตัว  ได้แก่ ชอบ(ราคะ) ไม่ชอบ(โทสะ) เฉยๆ(โมหะ)

จิตตั้งสุภนิมิต จิตน้อมไปในราคะ  พิจารณาเห็นความสุขในทางกามคุณนั้นให้คุณน้อยแต่ให้โทษมาก  เห็นโทษของราคะเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง  เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง  เป็นไปเพื่อความไม่ตั้งมั่น  เป็นไปเพื่อความไม่รู้แจ้ง  ไม่สงบระงับ  ไม่เป็นความสว่างของปัญญา  เป็นข้าศึกของจิต เอากิเลสหรืออารมณ์นั้นมาวินิจฉัยให้เห็นคุณและโทษ   สุขทางโลกที่มีอยู่เป็นสุขที่มีแต่ความเร่าร้อน  เป็นสิ่งล่อให้ติดอยู่ เป็นสุขที่ไม่พ้นจากทุกข์เพราะมีทุกข์เจืออยู่ พูดเป็นนัย คือ ไม่มีอะไรนอกจากทุกข์  เป็นอารมณ์ที่ไม่หยุด ไม่นิ่ง  เราต้องดำริออกจากสภาวะที่จิตไม่นิ่ง  วิธีแก้ คือ เมื่อเรารู้ตัวก็ไม่ตั้งภาพสุภนิมิตนั้นไว้ ไม่ขยายภาพให้ละเอียดลออต่อไปอีก  ให้สลัดอารมณ์เบื้องแรกอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะออกไป  น้อมจิตพิจารณาอสุภนิมิต  อันเป็นของตรงข้ามกันกับสุภนิมิต  การสร้างภาพของคนอื่นขึ้น เป็นภาพดำเนินไปแห่งความใคร่กำหนัดยินดีย้อมใจ  เราจะไม่เอาจิตตั้งไว้และไม่เติมความเป็นไปให้งอกงาม  นั่นคือกำจัดภาพนั้นออก สลัดอารมณ์เหล่านั้นทิ้งโดยไม่ให้สืบต่อไป  น้อมจิตมาพิจารณากายคตาสติ ดูอาการ  ๓๒  นึกถึงกายข้างในของเราแทน เป็นการดำริออก เอาจิตไปอยู่อีกที่หนึ่ง คือตรงตัวเรา   ให้จิตแจ้งตรงนั้นให้ได้  ตัวเราเหมือนเสาหลักเมืองเอาจิตผูกไว้ ไม่ให้จิตออกข้างนอกเพื่อสู้กับกิเลส ๓ อย่าง  จิตแย่งชิงกันระหว่างเรากับอารมณ์  เราต้องทำสงครามกับสิ่งที่มีในขันธสันดาน ให้เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าไปก่อน แม้ยังไม่กระจ่างแจ้งแก่ใจ แต่สรุปได้ว่าทางเส้นนี้ดีที่สุด จึงเปลี่ยนจากเส้นทางเดิม เพราะจิตคิดเดินเครื่องตลอดเวลา เป็นจิตที่คิดไม่หยุด

การเกิดขึ้นของกิเลส คือ จิตสร้างภาพอะไรขึ้นมา ภาพนั้นจะเป็นที่เกิดของกิเลส แล้วเราขยายภาพให้เดินเรื่องไปตามอารมณ์ อารมณ์ที่ตั้งของราคะก็เป็นไปเพื่อความกำหนัดยินดีของจิตขึ้นมา แล้วขยายภาพนั้นเป็นส่วนย่อยขยายให้เรื่องยาวขึ้น ราคะที่ไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น โน้มจิตให้เอียงไปทางราคะมากขึ้น เป็นตัณหาบีบคั้นให้จิตคิดไม่หยุด  เกิดความขวนขวายไขว่คว้าหาสิ่งนั้น

กรณีโทสะก็เหมือนกัน  จิตตั้งบนสิ่งที่เราไม่พอใจ เกิดความโกรธ ภาพนั้นจะตั้งอยู่ในจิต และภาพนั้นก็ขยายเดินเรื่องไปให้พิสดาร จิตดำเนินเป็นเรื่องราวมากขึ้น จิตก็น้อมไปในโทสะ จมอยู่ในโทสะ ถ้าจิตเป็นไปตามนั้นอยู่ตลอดเวลา  จิตแสดงพฤติกรรมของภาพนั้นออกไปอีกต่างๆ นานา 

ส่วนความหลง จะรักก็ไม่ใช่ จะชังก็ไม่ใช่ ไม่รักไม่ชัง อารมณ์เหล่านี้หากคิดไปเรื่อยๆ ก็เป็นอารมณ์กลางๆ ไม่คิดแง่ลบเพราะการคิดในแง่ลบจะบีบคั้นใจ การคิดไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งๆ เราจะเห็นว่ากิเลสเกิดอยู่ตลอดเวลา คิดไม่หยุด ต้องหาทางแก้ไขธรรมชาติเหล่านั้นให้ได้ ถ้าปล่อยจิตจะไปตามครรลองนี้ ก็เดินทางเส้นเดิมอยู่ตลอดเวลา ทางสายแห่งกิเลสย่อมไม่มีทางจบสิ้น เพียงแต่เรารู้หรือไม่รู้เท่านั้น ถ้ากำหนดรู้ให้ละเอียดก็จะรู้ได้จบสิ้น การทำสมาธิที่มุ่งให้จิตนิ่งเพียงอย่างเดียว สมาธิตรงนั้นเราไม่สามารถจะอยู่ได้ทั้งคืนทั้งวัน   ถึงเวลาที่จิตอิ่มตัวเต็มที่แล้วก็คลายออก  จิตจะคลายตัวออกกลับมาอยู่ในทางสายเดิม ความรู้สึกเดิมๆ ไม่ใช่ทางสงบระงับที่แท้จริงของจิต เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง แต่กิเลสยังไม่ออกจากจิต เราต้องศึกษาให้รู้ว่าหน้าตากิเลสเป็นอย่างไร? และจะแก้ไขอย่างไร? อารมณ์ที่ถูกสร้างขึ้นในห้วงสำนึกจิตเป็นกลางๆ คิดเห็นเป็นกลางๆ แต่ถ้าเกิดราคะขึ้น โทสะและโมหะจะหลบไป ถ้าเกิดโทสะขึ้น ราคะและโมหะจะหลบไป ถ้าเกิดโมหะขึ้น ราคะและโทสะจะหลบไปเช่นกัน แต่มีความแตกต่างกันในแง่ของการมีรสต่างกัน  อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส อารมณ์ใดเกิดขึ้นอารมณ์นั้นจะเด่นอยู่ อีกสองอย่างก็จะหลบหน้าไป  พฤติกรรมของจิตเป็นอย่างนั้นตลอดเวลา เราเปลี่ยนจากภาพเห็นคนอื่นให้นึกถึงตัวเราแทน เพราะภาพของโลกทั้งหมดเป็นกิเลส จะงอกเงยไม่ได้ โดยการกระทำอย่างนี้

การประพฤติปฏิบัตินั้นเราต้องทำให้มากๆ  เราจะไม่เอาจิตตั้งไว้ข้างนอกเลย   ไม่ให้โอกาสกิเลสที่มีอยู่มีโอกาสพอกพูนงอกงามขึ้นมา  เมื่อส่งจิตออกนอก จะต้องตัดออกให้หมด แล้วน้อมจิตมายังกายของเราดูอาการ ๓๒  โดยน้อมจิตนึกเห็นกายตัวเองตลอดเวลา  ไม่ตั้งในภาพความหลงหรืออวิชชาที่จิตสร้างภาพขึ้นเองโดยอัตโนมัติ  เราช่วงชิงจิตนั้นโดยพยายามมองให้เห็นกายตัวเองขึ้นมาแทนภาพเหล่านั้น เห็นแต่ภาพของตนเท่านั้น ไม่ให้ภาพคนอื่นเกิดขึ้น เหมือนการดูโทรทัศน์ให้นึกมองเห็นแต่ภาพตนเท่านั้น นั่นเป็นสักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นที่ถูกต้อง เห็นชอบแล้ว แม่โคฝูงหนึ่งจะพาฝูงเดินไม่คด ลูกแถวก็เดินไปได้ถูก แม่โคจึงเป็นหัวหน้าในการนำทาง คือ มรรคมีองค์ ๘ เป็นปฏิปทาออกจากทุกข์ แต่ก็เป็นไปได้ยาก การทำให้แจ้งต้องประพฤติปฏิบัติให้มาก หลังจากที่รับรู้เข้าใจแล้ว ต้องกระทำการอบรมจิตด้วยความพากเพียร ไม่ปล่อยจิตให้สร้างภาพคนอื่นขึ้นได้          
        พระพุทธองค์สอนให้มองตนเองเป็นที่ตั้งแห่งการดับกิเลส
  ปัญหาคือจิตเองยังไม่เห็นตัวเอง เรามองตัวเองไม่ออก  นึกให้เห็นภาพตัวเราให้เห็น ไม่ใช่แค่รู้ แต่นึกไม่ออก  การเห็นนั้นจะไม่เห็นตัวเราในครั้งแรกของการปฏิบัติ  ทำไมจึงมองไม่เห็นตัวเรา เพราะเราไม่เคยทำมาก่อน  จึงต้องทำให้มากแล้วเราจะเห็นได้ การไม่เคยเห็นไม่เคยค้นคว้า จิตหลงในอาการข้างนอกมาก จึงทำให้จิตใจคล่องแคล่วชำนาญในการเห็นข้างนอกซึ่งเป็นกิเลส จึงต้องทำความเพียรให้มาก แล้วเราจะเห็นขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หากเราย้อนดูสิ่งที่ผ่านมาอยู่ที่จิตเป็นสัญญาอารมณ์  ที่รวบรวมข้อมูลในการจำตลอดเวลา อันใหม่ก็เก็บเกี่ยวไว้เป็นที่มาแห่งอารมณ์ เป็นคลังใหญ่เก็บอารมณ์เพิ่มเข้าไปอีก  แล้วความสงบอารมณ์จะมีได้อย่างไร?

คำสอนของพระพุทธองค์เป็นธรรมะที่มีความลึกซึ้ง ยากแก่การเข้าใจต้องประพฤติปฏิบัติจึงจะเข้าใจได้ ต้องใช้สติมาก ต้องใช้ความพยายามมากที่จะทำให้ปรากฏผลออกมา ไม่เช่นนั้นเราจะเสียท่ากิเลส เมื่อรู้แล้วจะไม่ให้จิตอยู่ที่เดิม ต้องย้ายบ้านใหม่เปลี่ยนเข้าสู่เส้นทางใหม่ คือ มรรคมีองค์ ๘ เป็นเส้นทางที่จิตไม่คิดข้างนอก  สอดส่องพฤติกรรมไม่ให้จิตไปอยู่ตรงทางเดิมนั้น  เราไม่ให้โอกาสแก่จิตเลยในการสร้างภาพ จิตนึกถึงสิ่งใดเป็นราคะ โทสะ โมหะ  เสมือนไฟเริ่มลุกขึ้น เราก็ดับเลย    
        เอาจิตพิจารณาอาการ ๓๒ น้อมเข้าสู่ไตรลักษณ์ ความเป็นไปตามธรรมชาติ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่เที่ยง ใช้จิตพิจารณาให้เห็นขึ้นมา พิจารณาแยกกายเป็นกายคตาสติตลอดเวลา ให้ครองจิตดวงนี้ไว้ในอำนาจ ช่วงชิงจิตไม่ให้อยู่ข้างนอก ภาพของตัวเองให้แจ้งออกมา ทำอยู่เนืองๆทั้งกลางคืนและกลางวัน ราคะที่ยังไม่เกิดจะไม่เกิด และราคะที่เกิดแล้วจะบรรเทาลง ทำให้เห็นแจ้งเป็น ความเพียรชอบ คือ สัมมัปปธาน ๔ ว่าด้วยความเพียรชอบ เพื่อละอกุศลเก่า  ไม่ทำอกุศลใหม่  ทำกุศลใหม่ และเพิ่มพูนกุศลเก่า  กุศลที่เกิดแล้วต้องรักษาไว้ 

การประพฤติปฏิบัติเข้าใจยาก  เราต้องประคับประคองจิตไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจิตจึงจะไปสู่ระบบใหม่ ความรู้สึกอารมณ์นั้นเกิดสะดุดขึ้นมาสงบระงับ การที่ชายนึกถึงหญิง หญิงนึกถึงชาย เมื่อจิตเราตั้งอยู่เช่นนี้ กิเลสเริ่มตั้งราคะแล้ว เราต้องเปลี่ยนจากภาพเขามานึกถึงตัวเราแทน  ภาพของโลกนี้ทั้งหมดหรือกิเลสจะงอกเงยไม่ได้ โดยการกระทำอย่างนี้  ไม่ว่าราคะ  โทสะ  โมหะ  จิตที่คิดทั้งหมดต้องดำริออก

 เส้นทางใหม่ที่เกิดขึ้น  อวิชชาจางคลาย สังขารก็เริ่มดับ อวิชชาถูกทำลาย จิตเริ่มอยู่ข้างในมากขึ้น  การพิจารณาตัวเองด้วยอาการ ๓๒    จะเห็นตัวเองชัดขึ้นมา เห็นกายข้างในชัดมากขึ้นๆ ให้เป็นอาการเดียวของจิตทดแทนอาการที่เราสลัดออก เอาอารมณ์ที่เห็นตัวเราเข้าไปแทน คนนี้มีสิทธิที่จะชนะจิตตนได้  ถ้าเราดำเนินจิตดวงนี้ตลอดเวลา ราคะ โทสะ โมหะก็จะจางคลายไม่ให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เราจะรู้สึกได้ว่ากิเลสบางเบาลง เราตัดไม่ให้มีผลเพิ่มขึ้นมา เหมือนไฟที่เราไม่เติมเชื้อไฟ ไฟนั้นจะค่อยๆ มอดลงไป ฉันใด ราคะ โทสะ โมหะ ก็ฉันนั้น  จิตเราไม่ขยายความเพิ่ม อารมณ์จะลดน้อยลง ความจางคลายและเบาบางจากกิเลสมีด้วยอาการอย่างนั้น  ให้จิตเห็นภาพตัวเราชัดขึ้นมา แล้วอาศัยความเห็นเป็นเครื่องอยู่ จิตระลึกรู้จะเป็นสมาธิชนิดใหม่ขึ้นมา  เป็นสมาธิที่มีบริวาร ๗ ข้อ ล้อมอยู่และข้อ ๘ เป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่มั่นคงยืนยงคงทน ไม่เสื่อมอยู่ในทุกสภาวะการ  เป็นสมาธิแบบใหม่ที่ไม่ใช่สมาธิที่ผ่านมา เป็นสมาธิถาวรใหญ่โต คนๆ นั้น เมื่อรู้กระบวนการอย่างนี้ ย่อมเอาภาพตัวเราแทนทุกอย่างในโลกนี้  จิตดวงนั้นจะพรากจากราคะ  โทสะ  โมหะด้วยอุบายนี้เท่านั้น  โดยการพิจารณาตัวเองซ้ำๆ ซากๆ จะเห็นกายของตัวเองชัดขึ้นๆ ตามลำดับ     
       
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของจิต สามารถจะแก้ไขได้ตามการปฏิบัติที่ถูกต้อง  เราเอาตัวของเราเป็นพยานได้จากการลองทำ เพื่อพิสูจน์คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ความสงสัยพื้นฐานที่มีอยู่จะสิ้นไป  ทางเส้นนี้เป็นหนทางคลายความสงสัยได้ในที่สุด  จิตจะเจริญอยู่ภายในตัวเรา เจริญกายคตาสติ  ได้แก่  ผม  ขน เล็บ  ฟัน  หนัง  ฯลฯ  ในตัวของเราเป็นอารมณ์เดียว ช่วงชิงอารมณ์ไม่ให้มีโอกาสเกิดเรื่องอื่นๆ ขึ้นอีก เพราะจิตมองเห็นโทษทุกข์จะเดินไปสู่เส้นทางใหม่ ไม่กลับไปสู่เส้นทางเดิม ความเจิดจ้าของสมาธิเกิดขึ้น จะเริ่มมองเห็นตัวเองชัดขึ้นทีละนิด จนสามารถเห็นตนเองชัดมากตามลำดับ          

คิดเรื่องตัวเองอย่างเดียวห้ามคิดเรื่องอื่น  ดำริออกจากเรื่องอื่นทั้งหมด ตั้งอารมณ์อยู่ในภาพเห็นตนเองอย่างเดียว ทำทั้งวันทั้งคืนไม่ให้จิตได้ช่องไปสู่ทางอื่น  การสู้ตลอดเวลากับอารมณ์ผลัดกันรุกผลัดกันรับ เป็นสีสันของการประพฤติปฏิบัติ  โดยมุ่งตั้งความหวังไว้ไม่ใช่แค่จิตนิ่ง จิตอยู่กับพุทโธเพียงอย่างเดียวเป็นแค่พื้นฐานเท่านั้น พยายามทำความเพียรให้มองเห็นตนเองมากขึ้น  ผู้ที่ยังมองข้างในกายของตนยังไม่เห็น ให้พยายามสร้างขึ้นมาให้เห็น เมื่อเห็นแล้วให้จิตอยู่ตรงที่เห็นนั้น เป็นการบังคับไม่ให้จิตออกไปข้างนอก  การที่จิตอยู่ตรงนั้นเป็นการอยู่ของจิตที่เป็นสมาธิตลอดเวลาได้ ทั้งกลางคืนกลางวัน เป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นการเห็นภาพตนเองในลักษณะที่มีสติระลึกรู้  เป็นจิตรู้ตื่นแบบตื้นๆ ไม่ใช่สมาธิที่ดิ่งลงลึก เป็นการเห็นจากการมีสติอยู่ตลอดเวลา  เป็นการเห็นภาพตัวเราเอง และเป็นการย้ายที่อยู่ของจิต ให้จิตพรากจากที่อยู่เดิม จากที่จิตเคยวิ่งออกข้างนอกตลอดเวลา กลับเป็นการท่องเที่ยวสำรวจดู รู้อยู่ภายในกายของเรา ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้กายของเราเป็นเครื่องอยู่ของจิต กลายเป็นมหาสติ เป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิต  สติเป็นธรรมที่เป็นใหญ่ในบรรดาธรรมทั้งหลาย เหมือนรอยเท้าช้างใหญ่กว่าบรรดารอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย ฉันใดก็ฉันนั้น      
        การทำความเพียร ทำให้มากทั้งกลางวันกลางคืน จะเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ต้องทำเพื่อให้จิตดำรงอยู่บนทางเส้นนี้เท่านั้น ต้องทำเพราะไม่มีทางอื่นให้เลือก ทางเลือกคือทางนี้เท่านั้น มีใครสักกี่คนที่จะอดทนได้ถึงปานนั้น เมื่อหวังผลให้จิตสงบระงับตลอดเวลา ก็ต้องทำความเพียรตลอดเวลาเช่นกัน จิตก็ให้ผลเป็นสมาธิตลอดเวลา ทำความเพียรทั้งวัน จิตก็สงบทั้งวัน จึงเป็นความสมเหตุสมผลกัน  นี่คือทางสายกลาง เป็นทางอันสูงสุดยิ่งใหญ่ที่ใครๆทำก็ทำได้ยาก  การอบรมจิตอยู่เป็นเวลานานๆ จะเห็นตนเองชัดลุกลามจนทั่วทั้งตัว อาศัยความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต และยังเป็นเครื่องรู้แจ้งขันธ์ ๕(เบญจขันธ์) คือ รูป เวทนา สัญญา  สังขาร  วิญญาณ ของเราตามความเป็นจริง จิตเห็นตัวเองชัด  เห็นธาตุแท้ของความเป็นตัวตนชัดเพิ่มขึ้น  

หาความเป็นแก่นสารของขันธ์ ๕ ว่ามีอะไรเป็นแก่นสาร  ก็เห็นว่าตัวเราเป็นของว่างเปล่า หาแก่นสารไม่ได้  เป็นของชั่วคราวที่หยิบยืมมาใช้  หาได้เป็นแก่นสารอันใดไม่ หาได้เป็นของเราไม่  เมื่อมีสติเข้าใจตามความเป็นจริง จิตเกิดความสลดสังเวช แท้จริงเป็นสิ่งสมมุติ ตัวตนที่แท้จริงไม่มี พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า ร่างกายของคนเราเปรียบเหมือนฟองน้ำ เหมือนพยับแดด เหมือนต้นกล้วย  ฟองของน้ำที่เกิดจากการกระทบกระทั่งเกิดเป็นฟองฝอยขึ้น เมื่อเอามือจับก็เป็นของว่างไม่มีแก่นสารหาสาระอันใด  ความสำคัญคือคนมักมองภาพผิดจากความจริง ฟองน้ำหาความเป็นตัวตนมิได้ พยับแดดหลอกตาเมื่อไปดูใกล้ๆไม่มีอะไรว่างเปล่า ต้นกล้วยเมื่อลอกกาบกล้วยออกเป็นชั้นๆจนหมดก็หาแก่นสารอะไรไม่ได้ จิตเอาความจริงมาพิจารณาแล้ว จะเกิดการปฏิวัติ และวิวัฒนาการได้จากการวิเคราะห์ เอาจิตทบทวนความรู้แจ้งอันนี้ ให้ปรากฏขึ้นแก่เรา

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า จิตเป็นของว่างเปล่า  ไม่ใช่ตัวตนของเรา  การเข้าใจว่าอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อสนองความต้องการตามอำนาจของกิเลสที่มีราคะ  โทสะ  โมหะ  เมื่อร่างกายเป็นของว่างเปล่า อารมณ์เหล่านั้นก็เป็นของว่างเปล่าด้วย  ไม่มีแก่นสาร การรู้แจ้งตรงนี้ จะเป็นกำลังช่วยจิตให้เห็นโทษของกามคุณ และทำให้จิตเลิกราเสียได้ จิตจะไม่ออกไปข้างนอกอีก  จิตจึงพลิกผันมองเห็นการเดินทางผิดของตน เมื่อคิดอะไรไปแล้วก็ตัดออกๆ  เมื่อจิตเข้าใจรู้แจ้งเป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่า แท้จริงตัวตนไม่ได้มีในโลก  เราหลงใหลไปตามกิเลสน้อยใหญ่  การสกัดจิตตรงนี้ทำให้เบาแรงลง บัดนี้ จิตเริ่มมีความเห็นถูกต้องว่า กระทำผิด  เมื่อก่อนยังไม่เข้าใจจากเริ่มแรกโดยการสกัดไว้  การจำนนของจิตปรากฏขึ้น รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คือ  ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และปฏิปทาเพื่อการดับทุกข์ จิตที่มืดอยู่ก่อนได้ถูกเปิดออกมา  เริ่มเห็น ความรู้แจ้งขึ้น  จักขุเกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว พระอริยบุคคลได้เกิดขึ้นแล้ว โดยการรู้แจ้งเบญจขันธ์ 

บัดนี้ ความรู้แจ้ง ญาณเครื่องรู้เห็นชัดเจน  รู้แจ้งว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเป็นการละสักกายทิฏฐิ  ความสงสัยเริ่มถูกทำลาย  สีลัพพตปรามาสเริ่มเข้าร่องเข้ารอยเป็นศีลที่ไม่ลูบคลำ เป็นศีลที่ถูกต้องตามมรรคา เกิดความรู้แจ้งในสัจธรรมขึ้นมา  รู้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง จิตพลิกผันสู่ความถูกต้องได้  เริ่มมั่นใจพระธรรมคำสอนมีจริง พระพุทธเจ้ามีจริง จากความมืดไม่รู้ไม่เห็น เกิดความเห็นแจ้งขึ้น  ทุกคนต้องผ่านประสบการณ์นี้ เมื่อเป็นเช่นนี้มีแววว่าจะชนะจิตดวงนี้ได้ เริ่มซึ้งในพระพุทธคุณเอาเหตุและผลที่ได้รับเป็นเครื่องบอกแห่งความเชื่อ  เมื่อเราปฏิบัติโดยถูกต้องก็ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ขึ้น จะเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้น มีญาณเป็นเครื่องรู้ถึงแก่นข้างใน เมื่อเป็นดังนี้ การเห็นตัวเองแจ้งเป็นความเห็นที่ปรากฏ เวลาเป็นพยานที่ไม่ดับไม่หาย สมาธิตรงนี้ไม่เสื่อมคงทนอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางคืนกลางวัน
        ในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่กล่าวถึงท่านพระอัญญาโกณฑัณญะ มีดวงตาเห็นธรรม หมายถึง ญาณที่เป็นเครื่องรู้อันนั้น หมายถึง การรู้แจ้งในเบญจขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
มองเห็นแล้ว ความเห็นนั้นจะเป็นเครื่องอยู่ของคนนั้นตลอดชีวิต เป็นพยานแก่จิตเองว่า เราและบุคคลอื่นที่แท้จริงนั้นไม่ได้มี แท้จริงเป็นของว่างเปล่า  ความเข้าใจอยู่บนพื้นฐานที่ไม่กลับกลอก เป็นการเห็นตามความเป็นจริง  มั่นใจว่าเดินทางถูกต้อง มั่นใจแล้วเดินต่อไปไม่ผิดทางปฏิบัติ พิจารณาตนเองให้แจ้งเห็นตัวตนของตัวเอง จิตเข้าใจว่าจิตไม่ควรท่องเที่ยว จิตที่เข้าใจแล้ว จิตควบคุมง่ายขึ้นมีกำลังใจ

การพิจารณาอาการ ๓๒ ปรารภทั้งกลางคืนกลางวัน จิตจะไม่เป็นของยืดออกแต่เป็นของที่หดเข้า เปรียบเหมือนขนไก่ขนนกที่ถูกไฟเผา สิ่งเหล่านี้จะงองุ้มเข้า หดเข้าไม่ขยายออก งอเข้าไม่แผ่ออก เป็นความลับความเป็นจริงของธรรมชาติ  จิตเริ่มหดตัวเข้าจิตมีสภาพเป็นสมาธิยั่งยืนได้ การพิจารณาตัวเองจะเห็นตัวเองสว่างออกไปตลอดเวลา  เห็นกายของตนทั้งกลางคืนกลางวันเห็นทั้งหลับทั้งตื่น เป็นเครื่องอยู่ของจิตตลอดเวลา  เห็นตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า  ความจริงเป็นตาในที่จิตสร้างภาพของเราในภาวะปัจจุบัน  จิตจะเป็นจิตที่สงบลงได้ การน้อมจิตเห็นตนเองเป็นการเอาชนะอารมณ์ได้

การรู้แจ้งว่าตัวเราแท้จริงเปรียบเหมือนต้นไม้เป็นของว่างเปล่า อายตนะทั้ง    คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  เป็นเหมือนกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ก็เป็นของว่างเปล่าด้วย เมื่อต้นไม้เป็นของว่างเปล่าโดยปริยาย ผลไม้จากต้นไม้นั้นก็ไม่เที่ยง รสชาดอันหอมหวานของผลไม้ก็ไม่เที่ยง ความอร่อยจะเที่ยงได้อย่างไร อายตนะของจิตก็เป็นของว่างเปล่า สิ่งที่เห็นไม่เที่ยง  เวทนาก็ไม่เที่ยง เวทนาเป็นของว่างเปล่า ความแตกแขนงของความรู้ จะเป็นความรู้กว้างไกลเกิดขึ้น เมื่อความรู้เกิดขึ้นแล้วจิตที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของว่างเปล่า จิตรู้โทษของตนว่าเป็นความหลง  บัดนี้ เข้าใจว่าอาการเหล่านั้นไม่เที่ยง ทั้งสุขและทุกข์ที่อาศัยเวทนาเป็นที่เกิดก็ไม่เที่ยง  การเห็นตนไม่เที่ยงจะคุกคามจนเห็นธาตุขันธ์อายตนะว่าไม่เที่ยง เป็นอนัตตา จิตรู้แจ้งแล้วต้องเห็นด้วย เป็นการดำเนินสู่การหลุดพ้นได้ เข้าใจอริยสัจสู่การดับทุกข์ได้ตามลำดับ เป็นอุบายออก เห็นความไม่เที่ยง  มีจิตที่รู้แจ้งเป็นพยานยืนยันได้ว่า พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นสิ่งประเสริฐสูงสุด

ผู้บรรลุถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วจะรู้ว่า ความสุขในอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นของไม่เที่ยง แล้วรู้จักอุบายออก  สิ่งที่มีอยู่เหมือนไม่มี เป็นของว่างเปล่า ใช้หูตาทำงานไปแต่จิตไม่ควรส่งออกไปข้างนอก  รู้สักแต่ว่ารู้  เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ไม่ส่งจิตออกไปเป็นทาสของตาหู จิตเห็นรู้แล้วและจำนนต่อเหตุผล จิตจึงหาอุบายออกจากสิ่งนั้น  โดยภาพจิตดำเนินไปตามทางนั้น  จิตเกิดเบื่อหน่ายคลายออกว่า ตัวเราและบุคคลนั้นเป็นของว่างเปล่า การเบื่อหน่ายคลายออกรู้ว่า ตนอยู่บนพื้นฐานแห่งความไม่เที่ยง คลายความยินดีในตัวเอง เบื่อหน่ายคลายความยินดีต่อโลก  จิตเบื่อหน่ายที่จะเที่ยวในอาการน้อยใหญ่  จิตลดความเป็นไปในกระแสนั้นๆ จิตจะหยุดและพลิกผันจัดระบบระเบียบใหม่  ราคะ  โทสะ  โมหะยุติ  จิตสงบระงับ รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะของพระพุทธเจ้า  จิตดวงนั้นจะอำลาโลก ไม่อยู่ในทางเดิมของโลกนี้  แล้วจิตจะไม่มีการคิดแบบเดิมๆ กลายเป็นมีร่างกายเปล่าๆ ไม่เป็นหญิงไม่เป็นชาย  ดำรงอิสระภายในตนเองมั่นคงถาวรตลอด เป็นจิตหนึ่งเดียวตลอดชีวิต  สติปัญญาบริบูรณ์มาก จิตหยุดการท่องเที่ยวตลอด ๒๔ ชั่วโมง จิตนิ่งอยู่อย่างเดิม มีสมาธิตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ จิตมีสติสัมปชัญญะ  ไม่มีอดีต  ไม่มีอนาคต  มีสติอยู่กับปัจจุบัน ต่อจากนี้ไปไม่ต้องทำความเพียรอีก 

 จิตมีสภาพหนึ่งเดียวตลอดชีวิต  นิพพานอยู่ตรงนั้น  เป็นความสุขที่รอคอยมานาน  เป็นความสุขที่ไม่มีโทษ เป็นความรู้จริงแท้  คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความรู้สูงสุด เป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินจะรู้ สามารถรู้ได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ และสามารถรับรู้ได้ในปัจจุบันชาติ 

        นิพพานเป็นการออกจากภาวะเดิม กลายเป็นมีร่างเปล่าๆ ไม่มีอดีต  ไม่มีอนาคต  จิตเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นความเห็นที่ถูกต้อง  จิตไม่ต้องควบคุมอะไร  เป็นจิตหนึ่งเดียวไม่เปลี่ยนแปลง มีสภาพเป็นจิตที่สงบระงับอยู่ตลอดเวลาเป็นอัตโนมัติ  สิ้นสงสัย ความบริบูรณ์จะเกิดได้ในผู้มีความเพียรความสมบูรณ์ของการประพฤติปฏิบัติ  เป็นสมาธิตื้นตื่น ไม่เสื่อมถอย ไม่แปรสภาพ  ความเชื่อและความสงบมีอยู่ต้องลองประพฤติปฏิบัติจริงๆจะพบว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่คนลวงโลก  เอาผลจากการประพฤติปฏิบัติเป็นเครื่องวัดได้  เหมือนกับการรักษาตาที่บอดสนิทกลับหายดีเป็นตาที่ใช้ได้  วิสัยของคนเรารู้ตามได้จริง แต่ต้องใช้ความเพียรมาก  แม้แต่หลับก็ยังทำจิตไม่มีความฝัน ทำได้ยากแต่เมื่อความเพียรถึงที่สุดแล้ว ความแก่รอบเป็นภาวะที่สุดที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
        ไฉนเลยเราจะดูถูกความสามารถของตนว่า ไม่สามารถทำได้  หญิงหรือชายมีความสามารถบรรลุธรรมได้เช่นกัน กิเลสตัวเดียวกัน มีกิเลสอยู่เต็มหัวใจ เราต้องแก้ที่ใจของเราเอง ถ้าเราไม่แก้ก็ไม่มีใครช่วยได้  บุคคลที่สอนให้เข้าใจก็มีอยู่  อย่าเหลาะแหละจะเสียเวลาเปล่า ทำให้จริงจังจะได้รู้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นจริง ทำให้เข้าใจละเอียดลออได้ ต้องอาศัยความเพียรรู้แจ้งนั้น ต้องลงมือปฏิบัติด้วย ไม่ใช่แค่รู้แล้วจะสำเร็จประโยชน์  ธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่แก้ไขได้  เพราะการที่จิตดวงนี้รู้เห็นโทษทุกข์อยู่ระบบเดิม(กิเลส)  เอารัดเอาเปรียบเรามากเกินไป นำเราไปสู่ความทุกข์ นำความทุกข์มาให้เราตลอดเวลา จึงคิดหาทางแก้ไขปลดเปลื้องตัวเองให้เป็นอิสระ การประพฤติปฏิบัติตามปฏิปทาก็ตามมา การรู้เห็นว่าสภาวะเดิมเป็นโทษทุกข์จริงๆ สภาวะใหม่ความสามารถทำให้เกิดมีได้ ๒ สภาวะในชีวิตนี้ คือเมื่อยังไม่อบรมจิตก็เป็นคนๆ หนึ่งในโลก  อีกสถานะคือเป็นสภาวะที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ พบกับความหลุดพ้นอันประเสริฐที่สุด

ดังนั้น เราจะปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปหรือ?  ความจริงนั้นเรารู้ได้ว่า การแก้ไขเราทำได้ เมื่อเจริญสติมากๆ จะรู้ความเป็นจริงว่า โลกนี้ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  จะเบื่อรังเกียจความคิดตัวเอง แท้จริงแล้ว จิตธรรมชาติเป็นสภาวะที่ไม่คิดอะไร เหมือนกับน้ำใสไม่มีสีแต่เกิดเป็นสีได้ เพราะมีสิ่งเจือปนต่างๆ แท้จริงจิตนั้นเป็นจิตที่นิ่ง แต่จิตวิ่งไปตามกระแสโลกเพราะกิเลสชักจูงไป  ความคิดที่เป็นอกุศลจะมีมากมาย     จิตที่รู้แจ้งจะไม่มีความคิดทั้งปวง กุศลและอกุศลสิ้นไปแล้ว จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ สุขที่ไม่ต้องคิดอะไร สงครามใหญ่เอาจิตกำหนด เอาความเพียรสู้ อยากพ้นทุกข์ต้องปฏิบัติเอง ไม่มีใครทำให้ได้ จ้างคนทำแทนก็ไม่ได้ อยู่ทางโลกก็ทุกข์  ไม่ทำก็ทุกข์  ทำความเพียรก็ทุกข์ แต่นำมาซึ่งความสุขก็น่าจะทำ จิตที่ไม่คิดจะเป็นความสุขชนิดหนึ่ง สุขนี้หาโทษไม่ได้ น่าอัศจรรย์ ! แท้       
        ถ้าปล่อยจิตปล่อยใจไปตลอดเวลา  จิตจะถึงที่สุดตรงที่การคิดไม่จบ เท่านั้นยังไม่พอ ดวงจิตนี้เมื่อตายแล้ว จะมีความสืบต่อเป็นอัตโนมัติ  เพราะอาศัยความคิดเกิดเป็นภพ ชาติ  ชรา  มรณะ  จะเกิดเป็นอะไรก็ยังไม่รู้ จะเกิดอีกกี่ภพ? กี่ชาติ? ก็ไม่รู้ เพราะตัวตายแต่ดวงจิตและอารมณ์ไม่ตาย เราควรทำจิตให้ตายก่อน ดับอารมณ์ให้หมดก่อน เพื่อให้ความปรุงแต่งไม่มี  แล้วจะยุติการเดินทางทั้งหมดได้ จะรู้ตัวเองว่าตัวเองเป็นชาติสุดท้าย เพราะเกิดเบื่อหน่าย จิตยุติภพชาติเหลือแต่ร่างกายที่จะถึงที่สุดแห่งความตาย ทำให้จบได้ คือ นิพพาน

        เพศสมณะอุบัติขึ้นด้วยเหตุอันทำได้ยากมากนี้ เพื่อให้ครรลองนี้เกิดขึ้นสำหรับผู้ต้องการพ้นทุกข์ สมัครใจทุ่มเทให้ถึงที่สุด  เป็นเพศที่ทำได้ผลที่สุด ให้เห็นทะลุทะลวงรู้แจ้งไปเลย  มีแต่คนชื่นชมยินดี เหมาะแก่การกราบไหว้ทักษิณาทาน  ควรแก่การต้อนรับ  ควรแก่ผู้คนจะเข้าไปสดับตรับฟังธรรม เพศสมณะเป็นเพศที่งดงาม  พรหมจรรย์นี้มีความสุขถ่ายเดียว  ถ้าเอาชนะกิเลสไม่ได้ก็ทุกข์มาก เพราะมีความขัดแย้งกับทางโลก  ถ้าทำได้เป็นบรมสุข ยากที่จะหาอะไรเปรียบปาน  ทำได้ด้วยกำลังความเพียร ทำจริงๆ ก็รู้ว่าได้ผลจริง     
        ตั้งความหวังไว้ว่าไม่ให้จิตรั่วแม้แต่วินาทีเดียว การประพฤติปฏิบัติจึงต้องใช้ความเพียรมาก ระหว่างทำใหม่ๆได้ตั้งความหวังไว้และไม่เปลี่ยนแปลง  ผลที่สุดก็ทำจบได้  ทำความเพียรแทบไม่ได้พัก ไม่ถึงที่สุดไม่หยุด เป็นการทำความเพียรที่หนักหน่วงทั้งทางกายและทางใจ
หนักทางจิตจะวางตรงไหน? ไม่มีที่วาง ยากยิ่งกว่าการถือของหนัก เป็นเรื่องกดดันทางจิต จนที่สุดหาทางออกได้ก็สงบระงับได้ เมื่อถึงที่สุดแล้วจึงจะยิ้มได้  เมื่อนั้นก็ไม่ต้องทำความเพียรอีกต่อไป เพราะจิตของพระอรหันต์จะไม่แปรเปลี่ยน จิตนิ่งนั่งนอนก็สบาย จิตไม่มีอยู่ข้างนอก เพราะจิตข้างในไม่มีปรุงแต่ง  การรู้ทางโลกทำงานทางโลกก็ทำแบบรู้ แต่ไม่ต้องคิดอะไร  วางอดีต  วางอนาคต  เป็นจิตสงบระงับ เข้าใจพฤติการณ์ทั้งหมด  จิตที่ดื้อจะกลายเป็นจิตน่ารัก ไม่ดื้อ ไม่ด้าน ไม่มีการขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่น่าเชื่อว่าจิตที่ฝึกได้ดีแล้วนำความสุขมาให้ พระพุทธองค์ทรงเป็นนายสารถีผู้ฝึกมนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้ไม่มีใครยิ่งกว่า

 การเห็นแจ้งในตัวเรา  จิตจะยุติระบบเดิม ปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบใหม่ ทำให้ต่างจากคนในโลกนี้  เป็นการเอาจิตฝังในอวัยวะภายใน เห็นแจ้งแล้วเกิดสลดสังเวชคลายอารมณ์ออกจนหมด  การนึกถึงตัวเองเป็นการดับกิเลสที่จิต ดับที่ตัวเรา รั้งจิตไว้ไม่ให้ออกไปจากตัว  แล้วจะถึงที่สุดแห่งทุกข์  นิพพานเป็นบารมีที่สูงสุด เป็นผู้พ้นจากอารมณ์ทั้งปวง แต่ต้องทำความเพียรให้มาก ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติก็ไม่เป็นองค์ประกอบที่เกิดของนิพพานได้ ลองถามตัวเองว่าเกิดมาจะทำอะไรดีที่สุด ไม่มีอะไรจะดีเท่าภารกิจนี้แล้ว  การเกิดของเรามีขึ้นเพื่อมาแก้ภพชาติ  เพื่อทำความเพียรอย่างนี้เท่านั้น เป็นทางเดียวที่จะแก้ให้พ้นทุกข์ หากไม่แก้ก็จบไม่ลง ขณะทำความเพียรถ้าหลับนอนมากเกิดฝัน จิตจะได้ช่องทางออกไปข้างนอกมากขึ้น เพราะจะดึงจิตที่เป็นสมาธิออกไปด้วย  ทำให้จิตสั่นคลอนสมาธิหยาบลง  บีบคั้นให้ตนมีสภาวะที่ทุกข์ขึ้น ต้องตามอุดรูรั่วให้ได้ 

การปฏิบัติ ๒ ทาง ที่มีอยู่ในพระธรรมจักกับปวัตนสูตรที่ไม่เป็นทางพ้นทุกข์ไม่ควรปฏิบัติ ทางแรก คือการคลุกคลีตนอยู่ในกามคุณ  อีกทาง คือการทรมานตนเองให้ลำบากเหน็ดเหนื่อยเปล่า การปฏิบัติเนสัญชิก คือ การนั่งสมาธิ ยืน เดินจงกรม  ไม่นอนตลอดคืนหนึ่งวันหนึ่งนั้น  เป็นการทำความเพียรให้เคร่งขึ้น  เป็นการขัดเกลากิเลสให้น้อยลง  ถ้าจะหลับก็เป็นการนั่งหลับ การนอนสบายจะปล่อยความเพียร จิตไม่ตั้งมั่นในความเพียร  การทำความเพียรจิตถึงที่สุดแม้หลับจิตก็ไม่ได้ออกไปไหน  จิตไม่ออกข้างนอกแม้แต่การหลับ  เมื่ออบรมอินทรีย์ให้จิตแก่กล้า แม้แต่การหลับก็ไม่ฝัน เป็นสมาธิที่ยั่งยืนถาวรตลอดกาล น่าอัศจรรย์มาก 
        หากต้องการให้ภพชาติสิ้นสุด ต้องประพฤติปฏิบัติให้เห็นข้างในตัวเองให้ได้ ถ้าไม่เห็นไปไม่รอด
! อย่ามัวให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ให้น้อมจิตมาดูตัวเอง  ถ้ากายภายในไม่ปรากฏให้เห็นก็ไม่ต้องกังวล  อย่างน้อยก็เป็นการไม่น้อมอารมณ์ไปในกิเลส ทำให้กาย วาจา ใจ บริสุทธิ์สะอาด ทำไปเรื่อยๆ พิจารณากายคตาสติด้วยอาการ ๓๒ ให้ปฏิบัติทั้งวันทั้งคืนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เป็นเวลานานประมาณ ๓ ปี ก็จะนึกเห็นภาพ เกิดอารมณ์สลดสังเวช  ให้นึกถึงความไม่เที่ยงของสังขารเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นึกถึงการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตลอดเวลา  นึกถึงกายของตนตามความเป็นจริง ไม่คิดปรุงแต่ง ตั้งจิตทำให้เห็น ต้องใช้เวลาทำความเพียรให้มาก  คิดเห็นแต่ตัวเรา  ระบบเดิมจะถูกทำลาย มโนวิญญาณไม่มี เป็นการสิ้นภพสิ้นชาติ  ความทนทานในการมองด้วยความมาดมั่น เพราะการเห็นทำได้ยาก สู้ไม่ถอย ที่สุดการเห็นจะเริ่มเปิดออก เริ่มเห็นทีละนิดๆ แล้วเห็นมากๆ ขึ้นจนชัดแจ้ง  การเห็นด้วยตาในชัดแจ้งมากยิ่งกว่าการเห็นด้วยตาเนื้อ เห็นลุกลามจนทั่วตัว แม้แต่ขนเส้นเดียวก็ไม่เว้น เห็นขันธ์ ๕ เป็นของว่างเปล่า เป็นความสงบระงับ แม้แต่ผู้ตาบอด หูหนวก ก็สามารถเห็นแจ้งได้ เป็นความสว่างโพลงตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า หลับตาลืมตาก็เห็นด้วยตาใน รู้แจ้ง สงบระงับอยู่  ความสว่างของจิตที่เห็นแจ้งนั้น สว่างมากทั้งกลางวันและกลางคืน เดินไปบนพื้นทุกก้าวย่างเต็มไปด้วยความสว่างไสว

การเห็นแจ้งในขันธ์ ๕  เห็นแจ้งสังขารร่างกาย เป็นการชำระกิเลสน้อยใหญ่ เป็นเครื่องรู้และสำรอกกิเลส การประพฤติปฏิบัติจึงเป็นที่มาแห่งการดับทุกข์โดยปริยาย  การเจริญกายคตาสติให้เห็นแจ้ง เป็นสมาธิที่ไม่เสื่อมทำแล้วจบได้  เมื่อเห็นแจ้งแล้วไม่ต้องทำอีกต่อไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้จิตสงบ  เป็นหนึ่งเดียวตลอดกาล

***********