วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

โลกนี้ไม่มีเรา

                                          ~☆โลกนี้ไม่มีเรา☆~
   
     ● เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงตามปรมัตถสัจจะแล้ว รูปหรือร่างกายนี้ว่างเปล่าจากตัวตนจริงๆ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณซึ่งเป็นนามธรรมเป็นอาการของจิตก็ค้นหาตัวตนไม่มี มีแต่ความว่างเปล่าจากตัวตนจริงๆ อีกเช่นกัน

     ● ร่างกายเป็นธาตุของโลก คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มาประชุมรวมตัวกัน(ตามเหตุปัจจัยและกรรมเก่าได้ประมวลมา) ดินมิใช่เรา เรามิใช่ดิน น้ำมิใช่เรา เรามิใช่น้ำ ลมมิใช่เรา เรามิใช่ลม ไฟมิใช่เรา เรามิใช่ไฟ
     
      ● ดังนั้น รูปหรือร่างกายนี้ เป็นเพียงเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องอยู่ เครื่องอาศัย ชั่วขณะหนึ่งของชีวิต และเป็นเราเป็นของเราจริงตามสมมุติบัญญัติเท่านั้น

     ● ในที่สุดธาตุทั้ง ๔ นี้ เขาก็แยกตัวออกจากกัน และสลายไปเป็นธาตุเดิมของเขา ดินกลับไปเป็นดิน น้ำกลับไปเป็นน้ำ ลมกลับไปเป็นลม ไฟก็กลับไปเป็นไฟ
    ● พระพุทธองค์เปรียบรูปดังกลุ่มของฟองน้ำที่เกิดขึ้นในแม่น้ำคงคา เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เมื่อถูกกระแสน้ำพัดพาไปแล้ว ก็จะสลายไปใกล้บ้าง ไกลบ้าง หาสาระแก่นสารมิได้
     ● เราคือจิต และแม้แต่จิตจริงๆ แล้ว ก็มิใช่เรามิใช่ของเราอีกเช่นกัน เพราะเมื่อพิจารณาค้นคว้าหาตัวตนของจิตจริงๆ แล้วจะพบแต่ความว่างเปล่าไร้ตัวตน มีแต่อาการของจิตหรือเจตสิก ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดดับๆๆ ไปตามเหตุตามปัจจัย แสดงอาการให้เห็นติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา แม้ยามหลับบางครั้งก็มีสัญญาอารมณ์เกิดขึ้นเป็นความฝัน
     ♢ เวทนา คือ การเสวยอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายสัมผัสร้อนเย็นอ่อนแข็ง ใจรับธรรมารมณ์ต่างๆ (เรื่องราวต่างๆ) เปรียบดังต่อมน้ำเกิดขึ้นแล้วดับไปเร็วฉับพลัน หาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตน
     ♢ สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เปรียบดังพยับแดดเต้นระยิบระยับ หลอกให้หลง คอยหลอกหลอนความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลา หาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตน
     ♢ สังขาร คือ การคิดปรุงแต่งไปตามสัญญาอารมณ์ เปรียบดังต้นกล้วยพอกหนาเป็นชั้นๆ เมื่อลอกออกทีละชั้นๆ แล้ว ก็หาแก่น หาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตน
     ♢ วิญญาณ คือ ธาตุรู้ (หรือความรู้ - ผู้รู้คือจิต)ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เปรียบดังนักเล่นกล และกลนั้นหาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตนอีกเช่นกัน
    ● สรุป ขันธ์ทั้ง ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มิใช่ตน มิใช่ของตน ถ้าเป็นตนเป็นของตนจริงแล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ ต้องอยู่ในอำนาจของเรา เราสามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เขาเป็นไปตามความปรารถนาต้องการได้
    ● แต่เพราะขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา(มิใช่ตัวตนของผู้หนึ่งผู้ใด) เป็นเพียงกระแสของธรรมหรือธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วดับไปตามเหตุตามปัจจัยของเขาสืบเนื่องติดต่อกันไปตามอำนาจของอวิชชา(ความไม่รู้)
    ● เมื่อมีจิตตั้งมั่นมีความเพียรพิจารณาขันธ์ ๕ อยู่อย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องเป็นเนืองนิตย์ทุกกาลเวลา เพื่อให้จิตได้รับรู้และเห็นตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ นั้นเป็นกองทุกข์ หาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตน มิใช่ตน มิใช่ของตนจริงๆ จนจิตเกิดความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดีในขันธ์ ๕ เมื่อปฏิบัติอยู่เช่นนี้แล้ว กิเลสตัวใดก็ไม่อาจตั้งอยู่ในจิตใจของเราได้
   
    ● และเมื่อนั้นจิตก็เป็นอิสระ สิ้นภพชาติได้ในที่สุด เป็นอันจบกิจ(พรหมจรรย์)ในพระพุทธศาสนา สมกับพระพุทธประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาอย่างอุกฤษฏ์และยาวนานถึงสี่อสงไขย เศษอีกหนึ่งแสนมหากัป ทรงสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์ พระราชบัลลังก์ พระชายา พระโอรสธิดา ดวงตา อวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกาย และแม้ชีวิต เพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความปรารถนาจะช่วยขนถ่ายสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งตัวเราด้วย ให้พ้นทุกข์ในวัฏสงสาร.

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

กัมมัฏฐาน ๕ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน


     
พระเวลามาบวชแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติต่อหน้าที่การงานของตน เวลาบวชทีแรกท่านก็ประทานอาวุธอันสำคัญให้ เป็นทั้งฝ่ายสมถะคือความสงบร่มเย็น โดยอาศัยกรรมฐาน ๕ เป็นเครื่องบริกรรม เป็นได้ทั้งวิปัสสนาแยกแยะกรรมฐาน ๕ คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี้เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา การบวชเบื้องต้นจะพิจารณาหรือบริกรรมคำใดในกรรมฐาน ๕ นี้ ก็บริกรรมตามจริตนิสัยชอบของตน มีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาให้จิตอยู่กับคำบริกรรม มีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น อาการใดอาการหนึ่ง เป็นเครื่องผูกมัดจิตใจ ให้จิตใจได้เกาะได้ยึดกับกรรมฐานบทนั้นๆ ด้วยความมีสติจดจ่อติดเนื่องกันไปโดยลำดับลำดา นี่ท่านเรียกว่าภาวนา
ภาวนาเป็นคำกลางๆ การสอนผู้สอนไม่เคยภาวนาก็สอนแบบงูๆ ปลาๆ ไปอย่างนั้นแหละ และผู้ทำก็ทำแบบงูๆ ปลาๆ สุดท้ายที่ได้มาก็ไม่ทราบ งูๆ ปลาๆ เลยคละเคล้ากันไปหมด ไม่ได้ผลประโยชน์แต่อย่างใด การสอนนี่ท่านสอนเช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราจะนำเกสามาเป็นคำบริกรรมด้วยความมีสติสืบเนื่อง หรือติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับลำดา ไม่ยอมให้เผลอกับคำบริกรรมนั้นๆ ที่เราชอบใจนำมาบริกรรมอย่างนี้ก็ได้ ในกรรมฐาน ๕ มีสติกำกับอยู่กับเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
ท่านพูดเพียงตโจ นี่ก็เพราะถึงประโยคใหญ่แล้ว ตโจก็คือหนัง ที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล หลงเขาหลงเรา ภูเขาภูเราอยู่เวลานี้ ก็เพราะหนังบางๆ นี่เท่านั้นแหละ ไม่ได้หนาอะไรเลย นี่ละปิดหูปิดตาสัตว์ทั้งหลายไว้ ให้เป็นของมีค่ามีราคาขึ้นมา ทั้งๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีค่ามีราคาอะไรแหละ พอหนังหุ้มห่อเข้าไปแล้ว ก็เลยกลายเป็นของมีค่ามีราคาไป ท่านจึงสอนให้พิจารณาถึงหลักความจริง สำหรับผู้ต้องการให้หลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริงแล้ว ให้ถืองาน ๕ ประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญแห่งการพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นคำบริกรรมกำกับก็ได้
จากนั้นก็พิจารณาเข้าไปถึงภายใน ถึงตโจแล้วก็เข้าไปภายใน เนื้อหนังมังสัง อาการ ๓๒ เต็มอยู่ภายในนี้ ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นของปฏิกูลโสโครกหมด ให้พิจารณาด้วยสติปัญญา แล้วใจจะค่อยเข้าอกเข้าใจตามหลักความเป็นจริง ที่มีอยู่ในกายเขากายเรา แล้วความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด และกองทุกข์ทั้งหลายที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็จะจางลงไปๆ

อุปาชีวก จากพระไตรปิฎก


อุปกาชีวก
                พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาตอบอุปกาชีวกที่กราบทูลถามว่า พระองค์บวชอุทิศใคร  ใครเป็นศาสดาของพระองค์ว่า ...
                 เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง  รู้ธรรมทั้งปวง มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง  ละธรรมทั้งปวงได้สิ้นเชิงหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา  ตรัสรู้ยิ่งเอง  แล้วจะพึงอ้างกล่าวใครเล่า
        เราไม่มีอาจารย์  เราไม่มีผู้เสมอเหมือน  เราไม่มีผู้ทัดเทียม
ในโลก  กับทั้งเทวโลก  เพราะเราเป็นอรหันต์  เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
 เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเองเพียงผู้เดียว  เป็นผู้เยือกเย็น  ดับกิเลสได้แล้วในโลก
            ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว  ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา  อุปกะ !  เราชนะความชั่วได้แล้ว  เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า พระชินะ

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ความตายไม่มีจริงในโลก



                                      
           "ความตายไม่มีจริงในโลก"

     อันว่าความตายตามโลกสมมุติบัญญัตินั้น เป็นความหลอกลวงของรูปนามในจักรวาล ไม่ใช่ความจริงแท้

     ธาตุทั้ง ๔ ในกายนั้น มิได้ตายหรือสูญสลายหายไปจากโลก ส่วนจิตนั้นก็ไม่ตาย เป็นธาตุอมตะ ว่างเปล่า ไร้ตัวตน ไม่มีผู้สร้าง และมิอาจทำลายได้ แต่มีธรรมชาติเป็นผู้รู้หรือธาตุรู้ มีชื่อเรียกว่า "จิตธาตุบ้าง มโนธาตุบ้าง วิญญาณธาตุบ้าง"

      ร่างกาย(รูป) อันประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ดิน ลม ไฟนี้ เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่น่ายินดี หาได้เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่ เราได้มาอาศัยรูปนี้ด้วยอำนาจของกรรม (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)ที่เป็นกุศล หรืออกุศล

      ธาตุทั้ง ๔ นี้ ไม่ได้ตายไปจากโลก ไม่ได้สูญสลายหายไปจากโลก เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็แตกสลายไป กลับไปเป็นธาตุเดิมของเขา

       ดินกลับไปเป็นดิน น้ำกลับไปเป็นน้ำ ลมกลับไปเป็นลม ไฟกลับไปเป็นไฟ

       ส่วนนาม(น้อมไปได้: คือจิต ซึ่งเป็นผู้รู้) ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เป็นอาการของจิต หาได้เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่เช่นกัน เกิดขึ้นโดยอาศัยรูปเป็นเหตุ ผ่านทางอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบสัมผัสกับอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์
   
     ตามความเป็นจริงแล้ว รูปเป็นสักแต่ว่าธาตุของโลก ไม่ใช่เรา มิใช่ของเรา ส่วนนามทั้ง ๔ นั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยรูปด้วยอำนาจของอวิชชาคือกิเลส จะเป็นเรา เป็นของเราได้อย่างไร

      จิตได้เข้ามาอิงอาศัยรูป เป็นเครื่องอยู่ เครื่องอาศัย เครื่องรู้ เครื่องระลึก ชั่วขณะหนึ่งตามอำนาจของกรรมในภพชาติหนึ่งๆ เท่านั้น เราคือจิต และความจริงแท้แม้แต่จิตก็ไม่ใช่เรา   

     รูปมิใช่เรา มิใช่ของเราจริง แต่เป็นเพราะอวิชชา (ความไม่รู้จริง ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เพราะขาดการคิดพิจารณาหาความเป็นจริง: โยนิโสมนสิการ) จิตจึงหลงยึดถือเป็นตน เป็นของตน

    อวิชชานั้น เป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปฯ ตามปฏิจจสมุปบาท

    เมื่อหลงยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตนเป็นของตนย่อมเป็นทุกข์ เพราะขันธ์มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาตามกฎของธรรมชาติ(ไตรลักษณ์ : อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ถ้ายึดมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดเลยก็ไม่ทุกข์เลย

     ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ก็คืออุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง เพราะอุปาทานขันธ์ ๕ จึงเกิดตัณหา ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันเป็นเหตุแห่งทุกข์(สมุทัย) มรรคมีองค์ ๘ (ว่าโดยย่อ: ศีล สมาธิ ปัญญา) เป็นสายกลางเพื่อการดับทุกข์ (นิโรธ)ผู้ปฏิบัติจะรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ซึ่งรู้ได้เฉพาะตน


     "จิตเป็นธาตุรู้" พร้อมที่จะรู้ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่สิ่งที่จิตรู้ มักจะรู้ผิดซึ่งเป็นความหลง

    เมื่อฝึกฝนอบรมจิตด้วยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว นามทั้ง ๔ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ที่เกิดขึ้นทางใจด้วยอำนาจของกิเลสทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด จะค่อยๆ ดับหมดไปด้วยความเพียร

      พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ชี้ทางสว่างแห่งปัญญาแก่ผู้ที่หลงทาง ดุจดังส่องประทีปให้ในที่มืด เปิดของที่ปิดอยู่ให้เราเห็น หงายของที่คว่ำอยู่ให้เราดู

      ศาสนิกชนผู้ได้สดับแล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติตาม จะสามารถออกจากข่ายแห่งความหลงนี้ไปได้ พระคุณของพระพุทธองค์นั้นมีมากเกินกว่าที่จะประมาณได้ เป็นบุญของเราแล้วหนอที่ได้เกิดมาพบพระศาสนาของพระองค์ สาธุ สาธุ สาธุ.

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กรรมกับจิต ...หลวงปู่ขาว อนาลโย



กรรมกับจิต
 หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู

อย่าตั้งอยู่ในความประมาท จงพากันสร้างคุณงามความดี มีการให้ทาน รักษาศีล พวกฆราวาส ให้ถือศีลห้า ศีลแปด วัน ๗ ค่ำ  ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนหนึ่งมี ๔ หน อย่าให้ขาด ให้มีความตั้งใจ
การเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล ภาวนา อันนี้เป็นทรัพย์ภายใน เป็นสมบัติภายในของเรา ควรใช้ปัญญาพิจารณาค้นคว้าร่างกาย ให้มันเห็นว่า ความจริงของมันตกอยู่ในไตรลักษณ์ ตกอยู่ในทุกขัง ตกอยู่ในอนิจจัง ตกอยู่ในอนัตตา มีความเกิดอยู่ในเบื้องต้น มีความแปรไปในท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด
อย่างนี้แหละ อย่าให้เรานอนใจ ให้สร้างแต่คุณงามความดี อย่าไปสร้างบาปอกุศล อย่าไปก่อกรรม ก่อเวรใส่ตน ผู้อื่นไม่ได้สร้างให้เรา คุณงามความดีเราสร้างของเราเอง ตนสร้างใส่ตนเอง ผู้อื่นบ่ได้ทำดอก เมื่อเราเป็นบาป ก็เราเป็นผู้สร้างบาปใส่เราเอง ความดีก็แม่น เราสร้างใส่เราเอง จึงได้เรียกกุศลกรรม อกุศลกรรม สัตว์ทั้งหลายจะดี หรือจะร้าย จะเป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์ หรือยากจนข่นแค้นก็ดี เป็นเพราะกรรมดอก
พระพุทธเจ้าว่านั่นแหละ สัตว์ทั้งหลายเป็นแต่กรรม สัตว์มีกรรมของตน เป็นเพราะกรรมดอก กรรมเป็นผู้จำแนกแจกสัตว์ให้ได้ดีได้ชั่วต่างๆ กัน ครั้นเป็นผู้ทำกรรมดี มันก็ได้ความสุข ไปชาติหน้าชาติใหม่ก็จะได้ความสุข ผู้ทำความชั่ว มันก็มีความทุกข์ มีอบายเป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ไป
กรรมเป็นผู้จำแนกไป ให้เกิดเป็นมนุษย์ ให้เกิดเป็นคนยากจนข่นแค้น มันเป็นเพราะกรรมของเขา ที่จะไปเกิดเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์มีความสุขเอง อย่างนี้ไม่มี นั่นแหละบาปมันเป็นผู้แจกให้ไป ไปเกิดในแดนคนยากคนจน เหมือนกันนั่นแหละกับเข้าไปหาเจ้านาย เราต้องระวังปานหยัง เข้าไปเราต้องทำอย่างใด จะทำท่าทางอย่างใด จะพูดอย่างไร ผู้เข้ามาหาคนยากคนจน มันไม่ต้องสนใจอะไร ไม่ต้องมีท่ามีทาง มันไปเกิดอยู่นั่นแหละ เราจะไปเกิดในที่ดีมันยากแล้ว บุญมันบ่ถึงเขา เราต้องทำเอา
 เกิดเป็นมนุษย์เป็นสัตว์อันสูงสุด ก็เป็นเพราะ “ปุพฺเพจกตปุญฺญตา” บุญหนหลังมาติดตามตนให้เกิดเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ ครั้นเป็นผู้สมบูรณ์แล้วก็ ให้ตั้งตนอยู่ในที่ชอบ อย่าไปตั้งอยู่ในที่ชั่ว รักษาศีล ให้ทาน หัดทำสมาธิอย่าให้ขาด ศีลห้าให้รักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ศีลแปดให้รักษา ให้พากันภาวนาอยู่
สมาธิมันไม่มีที่อื่น ให้นั่งภาวนา พุทโธๆ ไม่ต้องร้องให้มันแรงดอก ให้มันอยู่ในใจซื่อๆ ดอก การภาวนาก็เป็นอริยทรัพย์ภายใน มันจะติดตามไปทุกภพทุกชาติ ติดไปสวรรค์ ลงมามนุษย์ มาตกอยู่ในที่มั่งคั่งสมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ยากไม่จน ทรัพย์อันนี้ติดตามไป บ่มีสูญหายดอก ตามไปจนสิ้นภพสิ้นชาติ หรือจนเหนื่อยหน่ายต่อความชั่ว เบื่อหน่ายไม่มีความยินดี ไม่อยากเกิดอีก ภาวนาไปๆ ก็จะไปสู่พระนิพพานตามเสด็จพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ ก็สบายเท่านั้นแหละ
คนเรามันมักอยากมาเกิดอยู่เสมอ ให้พากันตั้งใจ วันหนึ่งๆ เราจะนั่งภาวนา นั่งภาวนาก็ให้นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติ อย่าปล่อยใจ ให้ตั้งสติอยู่กับใจ ให้เอาพุทโธเป็นอารมณ์ ทีแรกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว จึงเอาแต่พุทโธอันเดียว ทำงานอะไรอยู่ก็ได้ พระพุทธเจ้าบอก ทำได้ทุกอิริยาบถ ได้ทั้งสี่อิริยาบถ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนไม่เป็นท่าดอก เอนลงไปเดี๋ยวก็เอาสักงีบเถอะ เดินนั่นแหละดี นั่งกับยืนก็ได้ ได้หมดทั้งสี่อิริยาบถ
พากันทำเอา ความมีอัตภาพนี่มันเป็นทรัพย์ภายนอก เงินทองแก้วแหวน บ้านช่องเรือนชานต่างๆ ที่หามาได้ก็เป็นทรัพย์ภายนอก ติดตามเราไปไม่ได้ดอก เมื่อตายแล้วก็ทิ้งไว้ กายอันนี้เมื่อตายแล้วก็นอนทับถมแผ่นดินอยู่ ไม่มีผู้ใดเก็บ กระดูกก็กระจายไป กระดูกหัวก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกแขนก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกขาก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกสันหลังก็ไปอยู่ที่อื่น กระจายไปเท่านั้นแหละ
คนเรามันกลัวตัณหาหลาย มันเชื่อตัณหาหลาย คนหนึ่งๆ มันมีสองศาสนา ศาสนาหนึ่งตัณหามันสั่งสอน อีกศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้า เรามันยึดถือตัณหานี่ ชอบกันนัก หมอนี่มันก็บังคับเอา เราก็ยึดถือหมอนี่ มันสอนให้เราเอา ให้ตีเอา ลักเอา ฉกชิงวิ่งราวเอา มันสอนอย่างนี้ ตัณหาน่ะ
พระพุทธเจ้าว่าให้ทำมาหากินโดยชอบธรรม ให้เป็นศีลเป็นธรรม อย่าเบียดเบียนกัน มันไม่อยากฟัง มันเกลียด ตัณหานี่ มันกลัวพระยามัจจุราช พระยามารก็เป็นผู้ช่วยมัน มันไม่อยากให้เราไปฟังอื่น ให้ฟังมัน มันผูกใจเราไว้ ครั้นจะไปดำเนินตามทางของพระพุทธเจ้า มันไม่พอใจ พอจะรับศีล รับทำไม มันว่า อย่าไปรับมัน อย่าไปทำมัน นี่มันก็ถูกใจมันเท่านั้นแหละ มันสอนนะ มันชอบอย่างนั้น
ส่วนธรรมะของพระพุทธเจ้า ครั้นอุตส่าห์ทำไป ปฏิบัติดีแล้ว เราก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ทำความเพียรภาวนาหนักๆ เข้า ก็ได้บรรลุพระนิพพาน กำจัดทุกข์ อันนี้ไม่อยากไป ไม่อยากฟัง ไม่เอา ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นต้องระวังตัณหา กิเลสที่มันชักจูงใจเราไม่ให้ทำความดี อย่าไปเชื่อมัน พยายามฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้อยู่ในศีลในธรรม
พระพุทธเจ้าว่า ให้เป็นผู้หมั่นขยันในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แม่นในหน้าที่ของตน เป็นความบริสุทธิ์ ผู้ขยันหมั่นเพียรนั่นแหละจะเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ มิใช่ว่าจะรักษาศีลภาวนาแล้วเฮ็ดหยังบ่ได้ มันบ่แม่น นั่นมันความเห็นผิดไป
พระพุทธเจ้าว่าให้ขยันหมั่นเพียร อะไรที่ชอบธรรมก็ทำได้ กลางคืนจนแจ้งก็ทำไป กลางวันก็ทำได้หมดตลอดวัน ทำไร่ ทำสวน ทำนา ให้ทำสุจริต ไม่เบียดเบียนใครเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าให้หยุด ไม่ให้เบียดเบียนกัน ทำใจให้สะอาด วาจาให้สะอาด กายให้สะอาด อย่าให้สกปรก ทำใจให้สะอาด คือให้หมั่นภาวนา ให้เอาพุทโธนั่นแหละเป็นอารมณ์ของใจ ให้ตั้งสติทำไปๆ ใจมันจะสงบสะอาดและผุดผ่อง
 “มนสาเจ ปสนฺเนน ภาสติวา กโรติวา ตโตนํ สุขมเนวติ” ครั้นผู้ชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วสดใสแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็ตาม ทำการงานอยู่ก็ตาม ความสุขนั้นย่อมติดตามเขาไป
“มนสาเจ ปทุฏฺเฐน ภาสติวา กโรติวา ตโตนํ ทุกฺขมเนวติ จกฺกํ วหโตปทํ” ครั้นบุคคลมีใจขุ่นมัววุ่นวาย มีใจเศร้าหมอง ใจมืด ใจดำอำมหิตแล้ว แม้จะพูดอยู่ ความทุกข์ย่อมครอบงำมันอยู่อย่างนั้น แม้จะทำอยู่ ความทุกข์ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ท่านเปรียบว่า เหมือนล้อที่ตามรอยเท้าโคไป ความทุกข์ตามบุคคลไปอยู่อย่างนั้น คนไม่รักษาใจ คนทำแต่ความชั่ว ก็มีแต่ความทุกข์นำไปอยู่อย่างนั้น
ให้พากันทำภาวนาไป วันหนึ่งๆ อย่าให้ขาด อย่าให้มันเสียเวลาไป ภาวนาไป ชั่วโมงหรือยี่สิบ สามสิบนาที อย่าให้มันขาด อาศัยอบรมจิตใจของตน ทำมันไป ขัดเกลาใจของตน ใจมันมี “โลภะ โทสะ โมหะ” เข้าครอบคลุม ใจจึงเศร้าหมอง
 ธรรมชาติจิตเดิมแท้นั้น เป็นธรรมชาติผ่องใส “ปภสฺสรมิตํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปฺกิเลเสหิ อุปฺกกิลิฏฺฐํ” ธรรมชาติจิตเดิมเป็นของเลื่อมประภัสสร เป็นของใสสะอาด แต่มันอาศัยอาคันตุกะกิเลสเข้าครอบงำย่ำยี ทำให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัวไป เพราะฉะนั้นให้พากันทำ อย่าประมาท อย่าให้มันเสียชาติ อย่าให้มันโศกเศร้าเป็นทุกข์
“มนุสฺสปฏิลาโภ” ความได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ ให้พากันทำ อย่าให้มันเสียไป วันคืนเดือนปีล่วงไปๆ อย่าให้มันล่วงไปเปล่า ประโยชน์ ภายนอกก็ทำประโยชน์ของตนนั่นแหละมันสำคัญพระพุทธเจ้าว่าให้ทำประโยชน์ของตนเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำประโยชน์อื่น

จาก หนังสืออนาลโยวาท พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ขาว อนาลโย