วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กรรมกับจิต ...หลวงปู่ขาว อนาลโย



กรรมกับจิต
 หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู

อย่าตั้งอยู่ในความประมาท จงพากันสร้างคุณงามความดี มีการให้ทาน รักษาศีล พวกฆราวาส ให้ถือศีลห้า ศีลแปด วัน ๗ ค่ำ  ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนหนึ่งมี ๔ หน อย่าให้ขาด ให้มีความตั้งใจ
การเข้าวัดฟังธรรม รักษาศีล ภาวนา อันนี้เป็นทรัพย์ภายใน เป็นสมบัติภายในของเรา ควรใช้ปัญญาพิจารณาค้นคว้าร่างกาย ให้มันเห็นว่า ความจริงของมันตกอยู่ในไตรลักษณ์ ตกอยู่ในทุกขัง ตกอยู่ในอนิจจัง ตกอยู่ในอนัตตา มีความเกิดอยู่ในเบื้องต้น มีความแปรไปในท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด
อย่างนี้แหละ อย่าให้เรานอนใจ ให้สร้างแต่คุณงามความดี อย่าไปสร้างบาปอกุศล อย่าไปก่อกรรม ก่อเวรใส่ตน ผู้อื่นไม่ได้สร้างให้เรา คุณงามความดีเราสร้างของเราเอง ตนสร้างใส่ตนเอง ผู้อื่นบ่ได้ทำดอก เมื่อเราเป็นบาป ก็เราเป็นผู้สร้างบาปใส่เราเอง ความดีก็แม่น เราสร้างใส่เราเอง จึงได้เรียกกุศลกรรม อกุศลกรรม สัตว์ทั้งหลายจะดี หรือจะร้าย จะเป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์ หรือยากจนข่นแค้นก็ดี เป็นเพราะกรรมดอก
พระพุทธเจ้าว่านั่นแหละ สัตว์ทั้งหลายเป็นแต่กรรม สัตว์มีกรรมของตน เป็นเพราะกรรมดอก กรรมเป็นผู้จำแนกแจกสัตว์ให้ได้ดีได้ชั่วต่างๆ กัน ครั้นเป็นผู้ทำกรรมดี มันก็ได้ความสุข ไปชาติหน้าชาติใหม่ก็จะได้ความสุข ผู้ทำความชั่ว มันก็มีความทุกข์ มีอบายเป็นที่ไป มีนรกเป็นที่ไป
กรรมเป็นผู้จำแนกไป ให้เกิดเป็นมนุษย์ ให้เกิดเป็นคนยากจนข่นแค้น มันเป็นเพราะกรรมของเขา ที่จะไปเกิดเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์มีความสุขเอง อย่างนี้ไม่มี นั่นแหละบาปมันเป็นผู้แจกให้ไป ไปเกิดในแดนคนยากคนจน เหมือนกันนั่นแหละกับเข้าไปหาเจ้านาย เราต้องระวังปานหยัง เข้าไปเราต้องทำอย่างใด จะทำท่าทางอย่างใด จะพูดอย่างไร ผู้เข้ามาหาคนยากคนจน มันไม่ต้องสนใจอะไร ไม่ต้องมีท่ามีทาง มันไปเกิดอยู่นั่นแหละ เราจะไปเกิดในที่ดีมันยากแล้ว บุญมันบ่ถึงเขา เราต้องทำเอา
 เกิดเป็นมนุษย์เป็นสัตว์อันสูงสุด ก็เป็นเพราะ “ปุพฺเพจกตปุญฺญตา” บุญหนหลังมาติดตามตนให้เกิดเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ ครั้นเป็นผู้สมบูรณ์แล้วก็ ให้ตั้งตนอยู่ในที่ชอบ อย่าไปตั้งอยู่ในที่ชั่ว รักษาศีล ให้ทาน หัดทำสมาธิอย่าให้ขาด ศีลห้าให้รักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ศีลแปดให้รักษา ให้พากันภาวนาอยู่
สมาธิมันไม่มีที่อื่น ให้นั่งภาวนา พุทโธๆ ไม่ต้องร้องให้มันแรงดอก ให้มันอยู่ในใจซื่อๆ ดอก การภาวนาก็เป็นอริยทรัพย์ภายใน มันจะติดตามไปทุกภพทุกชาติ ติดไปสวรรค์ ลงมามนุษย์ มาตกอยู่ในที่มั่งคั่งสมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ยากไม่จน ทรัพย์อันนี้ติดตามไป บ่มีสูญหายดอก ตามไปจนสิ้นภพสิ้นชาติ หรือจนเหนื่อยหน่ายต่อความชั่ว เบื่อหน่ายไม่มีความยินดี ไม่อยากเกิดอีก ภาวนาไปๆ ก็จะไปสู่พระนิพพานตามเสด็จพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ ก็สบายเท่านั้นแหละ
คนเรามันมักอยากมาเกิดอยู่เสมอ ให้พากันตั้งใจ วันหนึ่งๆ เราจะนั่งภาวนา นั่งภาวนาก็ให้นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติ อย่าปล่อยใจ ให้ตั้งสติอยู่กับใจ ให้เอาพุทโธเป็นอารมณ์ ทีแรกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว จึงเอาแต่พุทโธอันเดียว ทำงานอะไรอยู่ก็ได้ พระพุทธเจ้าบอก ทำได้ทุกอิริยาบถ ได้ทั้งสี่อิริยาบถ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนไม่เป็นท่าดอก เอนลงไปเดี๋ยวก็เอาสักงีบเถอะ เดินนั่นแหละดี นั่งกับยืนก็ได้ ได้หมดทั้งสี่อิริยาบถ
พากันทำเอา ความมีอัตภาพนี่มันเป็นทรัพย์ภายนอก เงินทองแก้วแหวน บ้านช่องเรือนชานต่างๆ ที่หามาได้ก็เป็นทรัพย์ภายนอก ติดตามเราไปไม่ได้ดอก เมื่อตายแล้วก็ทิ้งไว้ กายอันนี้เมื่อตายแล้วก็นอนทับถมแผ่นดินอยู่ ไม่มีผู้ใดเก็บ กระดูกก็กระจายไป กระดูกหัวก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกแขนก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกขาก็ไปอยู่ที่อื่น กระดูกสันหลังก็ไปอยู่ที่อื่น กระจายไปเท่านั้นแหละ
คนเรามันกลัวตัณหาหลาย มันเชื่อตัณหาหลาย คนหนึ่งๆ มันมีสองศาสนา ศาสนาหนึ่งตัณหามันสั่งสอน อีกศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้า เรามันยึดถือตัณหานี่ ชอบกันนัก หมอนี่มันก็บังคับเอา เราก็ยึดถือหมอนี่ มันสอนให้เราเอา ให้ตีเอา ลักเอา ฉกชิงวิ่งราวเอา มันสอนอย่างนี้ ตัณหาน่ะ
พระพุทธเจ้าว่าให้ทำมาหากินโดยชอบธรรม ให้เป็นศีลเป็นธรรม อย่าเบียดเบียนกัน มันไม่อยากฟัง มันเกลียด ตัณหานี่ มันกลัวพระยามัจจุราช พระยามารก็เป็นผู้ช่วยมัน มันไม่อยากให้เราไปฟังอื่น ให้ฟังมัน มันผูกใจเราไว้ ครั้นจะไปดำเนินตามทางของพระพุทธเจ้า มันไม่พอใจ พอจะรับศีล รับทำไม มันว่า อย่าไปรับมัน อย่าไปทำมัน นี่มันก็ถูกใจมันเท่านั้นแหละ มันสอนนะ มันชอบอย่างนั้น
ส่วนธรรมะของพระพุทธเจ้า ครั้นอุตส่าห์ทำไป ปฏิบัติดีแล้ว เราก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ทำความเพียรภาวนาหนักๆ เข้า ก็ได้บรรลุพระนิพพาน กำจัดทุกข์ อันนี้ไม่อยากไป ไม่อยากฟัง ไม่เอา ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นต้องระวังตัณหา กิเลสที่มันชักจูงใจเราไม่ให้ทำความดี อย่าไปเชื่อมัน พยายามฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้อยู่ในศีลในธรรม
พระพุทธเจ้าว่า ให้เป็นผู้หมั่นขยันในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แม่นในหน้าที่ของตน เป็นความบริสุทธิ์ ผู้ขยันหมั่นเพียรนั่นแหละจะเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ มิใช่ว่าจะรักษาศีลภาวนาแล้วเฮ็ดหยังบ่ได้ มันบ่แม่น นั่นมันความเห็นผิดไป
พระพุทธเจ้าว่าให้ขยันหมั่นเพียร อะไรที่ชอบธรรมก็ทำได้ กลางคืนจนแจ้งก็ทำไป กลางวันก็ทำได้หมดตลอดวัน ทำไร่ ทำสวน ทำนา ให้ทำสุจริต ไม่เบียดเบียนใครเท่านั้น เพราะพระพุทธเจ้าให้หยุด ไม่ให้เบียดเบียนกัน ทำใจให้สะอาด วาจาให้สะอาด กายให้สะอาด อย่าให้สกปรก ทำใจให้สะอาด คือให้หมั่นภาวนา ให้เอาพุทโธนั่นแหละเป็นอารมณ์ของใจ ให้ตั้งสติทำไปๆ ใจมันจะสงบสะอาดและผุดผ่อง
 “มนสาเจ ปสนฺเนน ภาสติวา กโรติวา ตโตนํ สุขมเนวติ” ครั้นผู้ชำระจิตใจของตนให้ผ่องแผ้วสดใสแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็ตาม ทำการงานอยู่ก็ตาม ความสุขนั้นย่อมติดตามเขาไป
“มนสาเจ ปทุฏฺเฐน ภาสติวา กโรติวา ตโตนํ ทุกฺขมเนวติ จกฺกํ วหโตปทํ” ครั้นบุคคลมีใจขุ่นมัววุ่นวาย มีใจเศร้าหมอง ใจมืด ใจดำอำมหิตแล้ว แม้จะพูดอยู่ ความทุกข์ย่อมครอบงำมันอยู่อย่างนั้น แม้จะทำอยู่ ความทุกข์ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ท่านเปรียบว่า เหมือนล้อที่ตามรอยเท้าโคไป ความทุกข์ตามบุคคลไปอยู่อย่างนั้น คนไม่รักษาใจ คนทำแต่ความชั่ว ก็มีแต่ความทุกข์นำไปอยู่อย่างนั้น
ให้พากันทำภาวนาไป วันหนึ่งๆ อย่าให้ขาด อย่าให้มันเสียเวลาไป ภาวนาไป ชั่วโมงหรือยี่สิบ สามสิบนาที อย่าให้มันขาด อาศัยอบรมจิตใจของตน ทำมันไป ขัดเกลาใจของตน ใจมันมี “โลภะ โทสะ โมหะ” เข้าครอบคลุม ใจจึงเศร้าหมอง
 ธรรมชาติจิตเดิมแท้นั้น เป็นธรรมชาติผ่องใส “ปภสฺสรมิตํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปฺกิเลเสหิ อุปฺกกิลิฏฺฐํ” ธรรมชาติจิตเดิมเป็นของเลื่อมประภัสสร เป็นของใสสะอาด แต่มันอาศัยอาคันตุกะกิเลสเข้าครอบงำย่ำยี ทำให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัวไป เพราะฉะนั้นให้พากันทำ อย่าประมาท อย่าให้มันเสียชาติ อย่าให้มันโศกเศร้าเป็นทุกข์
“มนุสฺสปฏิลาโภ” ความได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ ให้พากันทำ อย่าให้มันเสียไป วันคืนเดือนปีล่วงไปๆ อย่าให้มันล่วงไปเปล่า ประโยชน์ ภายนอกก็ทำประโยชน์ของตนนั่นแหละมันสำคัญพระพุทธเจ้าว่าให้ทำประโยชน์ของตนเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำประโยชน์อื่น

จาก หนังสืออนาลโยวาท พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ขาว อนาลโย

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หลักการภาวนา (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)




หลักการภาวนา
(หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท) 

การตั้งปณิธานในการพิจารณาหลักใหญ่นั้นท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ ท่านให้เราหัดคิดทวนกระแส หรือที่เป็นแนวความคิดดั้งเดิมของเรา เป็นต้น
เราเคยคิด และติดใจอยู่ในสมาธิมาแล้ว เราก็ต้องคิดทวนกระแสสมาธินั้นอย่างหนัก เช่น การทำสมาธิแล้วจิตสงบได้หลาย ๆ ชั่วโมงหรือจิตเกิดไปรู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ ก็ต้องหยุดไว้ก่อนไม่เอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์
เราต้องตั้งสติพิจารณาทันที โดยเริ่มด้วยการพิจารณาที่กาย ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น และต้องไม่ให้สมาธิมารบกวนในการพิจารณานี้ได้เลย ผลที่จะได้รับนั้นก็จะคุ้มค่าสำหรับการพิจารณาทวนกระแส
การพิจารณาทวนกระแสนี้ มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการใช้ความคิด และการพิจารณาอย่างรอบคอบในขันธ์ ๕ เมื่อมีสติจดจ่อในขันธ์ ๕ ปัญญาหรือความคิดเกี่ยวกับขันธ์ ๕ จะเป็นไปอย่างคล่องแคล่ว และรวดเร็วว่องไวอย่างที่สุด จนทำให้ผู้ภาวนาไม่สามารถหยุดพิจารณาได้
  จึงทำให้ดูเหมือน เป็นผู้ที่มีความคิดฟุ้งซ่านไปอย่างมาก เช่น พิจารณารูปไม่หยุด เมื่อตาสัมผัสกับรูป ก็จะพิจารณารูปนั้น ๆ ทันที และโดยละเอียดกว้างขวางไปเรื่อยจนไม่มีขอบเขต หรือที่เรียกว่ามากจนเกินพอกลายเป็นฟุ้งไป ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องของการพิจารณาธรรมะล้วน ๆ
วิธีแก้ก็ต้องอาศัยสติยับยั้ง และอาศัยการเข้าสมาธิ เพื่อพักผ่อนใจให้สงบจากการพิจารณาชั่วคราว เมื่อจิตได้พักพอมีกำลังแล้วจึงพิจารณาต่อไปใหม่
การดำเนินการปฏิบัติธรรมโดยวิธีจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง และส่งผลไปสู่ความเข้าใจในขันธ์ ๕ อย่างถ่องแท้(นี่คือผลของการใช้วิธีพิจารณาในการปฏิบัติธรรมในขั้นต้น)
การพิจารณาอย่างนี้หากดำเนินไปเรื่อย ๆ จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติไม่ยึดในกายสังขาร แต่ก็เฉพาะเมื่อกายสังขารของผู้ปฏิบัตินั้น ยังสมบูรณ์เป็นปกติอยู่ นั้นก็คือ ไม่ยึดก็จริง แต่ยังไม่ถือว่า เป็นขั้นเด็ดขาด
เพราะหากผู้ปฏิบัตินั้นเกิดเจ็บป่วยขึ้นอย่างรุนแรง ความยึดติดในกายสังขารของผู้ปฏิบัตินั้น ก็จะปรากฏขึ้นทันที เช่น มีอาการกลัวตาย หรือจิตจะเข้ามาบงการ เพื่อขจัดปัดเป่าความเจ็บป่วยนั้น
ซึ่งโดยสรุป ก็คือ ความกลัวตายนั่นเอง ซึ่งก็เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการยังเป็นผู้ยึดติดในกายสังขาร นั่นเอง
สิ่งที่สมควรจะย้อนกลับมาดูผล ในการพิจารณาขันธ์ ๕ ของตน ก็คือพิจารณาขันธ์ ๕ ของผู้ปฏิบัตินั้น ยังไม่เพียงพอ ยังเป็นผู้ยึดติดในขันธ์ ๕ ของตนอยู่ หากผู้ปฏิบัติเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการพิจารณาก็จะเกิดการฮึดสู้ และพิจารณาในขั้นต่อไปได้
การพิจารณาถึงเวทนา ความเจ็บป่วยที่เกิดแก่ตัวผู้ปฏิบัติ ในขณะนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นเวทนาเป็นไตรลักษณ์ และไม่ติดในเวทนา ไม่ว่าจะเป็นเวทนาในทางบวก คือการอยากหายอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป และเวทนาในทางลบ คือต้องการให้การเจ็บป่วยระงับไปโดยเร็ว เช่น ฆ่าตัวตาย
เมื่อผู้ปฏิบัติไม่ติดอยู่ในเวทนา จิตย่อมเป็นอิสระจากเวทนา หากนักปฏิบัติภาวนาไม่รอบคอบ คิดว่าเวทนาเป็นข้าศึกของจิตใจแต่ฝ่ายเดียว ก็จะไม่รู้เท่าทันเวทนาได้โดยสมบูรณ์
ธาตุขันธ์ทรงตัวอยู่ได้ก็เพราะเวทนา หากเวทนาบกพร่องร่างกายก็จะไม่สมบูรณ์ เช่น ขาข้างซ้ายไม่มีเวทนาอยู่เลย หรือที่เป็นอัมพาต การเดินก็จะทำได้ยาก เพราะเหตุที่เวทนาที่บังคับขาซ้าย ไม่สมบูรณ์
ฉะนั้น เวทนาไม่ว่าจะในการบวกหรือลบ "ย่อมมีคุณอยู่เหมือนกันสำหรับผู้รู้ แต่จะมีโทษสำหรับผู้หลง” เมื่อเวทนาเกิดขึ้น จิตที่จะแส่ส่ายออกไปรับรู้ภายนอกนั้น ค่อนข้างจะยาก จิตจึงเริ่มรวมตัวใกล้ชิด โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมเข้าช่วยลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า "เวทนาอบรมสมาธิก็ได้" แต่ต้องอาศัยผู้ที่ห้าวหาญ ต่อความเป็นจริงของเวทนา ซึ่งเป็นลักษณะของจิตที่ออกจะดื้อหรือรวมตัวได้ยาก
เวทนาเมื่อเกิดขึ้นหากไปเอาสมาธิเข้าระงับ ยอมรับความจริง โดยใช้ปัญญาเข้าคลี่คลายแก้ไขทันที นี่เป็นผลของเวทนาอบรมปัญญา

วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รักอื่นยิ่งกว่าพระนิพพานนั้นไม่มี (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)



รักอื่นยิ่งกว่าพระนิพพานนั้นไม่มี
(หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท เป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบท่านเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นผู้ที่เรียกท่านว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”
หลวงปู่เจี๊ยะได้อธิบายความหมายของ “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ไว้อย่างลึกซึ้งว่า
“ชีวิตนี้เป็นประดุจผ้าขี้ริ้ว เป็นเหมือนถังขยะ ที่คอยเก็บอานิสงส์ของกรรมดีชั่ว แล้วก็ให้ผลแก่เราเป็นผู้เสวย ถ้าเรานำชีวิตที่เราพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว น้อมพิจารณาให้เกิดธรรมะขึ้นภายในใจ ธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจนั่นแหละ จะเป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วห่อทองขึ้นมาทันที
เพราะร่างกายของคนนี้ไม่มีค่า มันมีค่าอยู่ที่หัวใจที่มีธรรม รูปธรรมทุกๆ อย่างจึงเป็นผ้าขี้ริ้ว นามธรรมคือหัวใจที่ฝึกปฏิบัติ จนได้เห็นธรรมตามความสามารถ นั่นแหละเป็นทอง คือธรรมสมบัติอันล้นค่า ปรากฏเด่นขึ้นมาเป็นสักขีพยาน...”
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ท่านเป็น “ทองเนื้อแท้” ที่น่าเคารพนับถือ
ในสมัยที่ท่านยังเป็นฆราวาสนั้นท่านเป็นคนตรงไปตรงมา ยอมหักไม่ยอมงอ เมื่ออายุครบอุปสมบทได้ ๒ ปี ท่านก็มีความคิดจะบวชทดแทนคุณบุพการี และหวังว่าจะสึกออกมาแต่งงานกับคนรักที่ชื่อว่า “แป้ง”
     
ซึ่งก่อนจะบวชนั้นมีคนสบประมาทไว้ด้วยว่า อาจอยู่ได้ไม่ครบพรรษา พ่อแม่ของท่านได้นำไปฝากไว้กับ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ
ศิษย์อาวุโสท่านหนึ่งของพระอาจารย์มั่น ท่านได้จำพรรษาที่วัดทรายงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี 
  แม้หลวงปู่เจี๊ยะตั้งใจว่าบวชเพียงไม่นาน ก็จะสึกออกมาใช้ชีวิตฆราวาส แต่ก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ ซึ่งปรากฏว่าท่านได้ซาบซึ้งในรสพระธรรมยิ่งนัก
“เมื่อภาวนาจิตลงได้อย่างนั้นแล้ว สมบัติใดๆ ในโลกที่เขานิยมว่ามีค่ามาก จะเอามากองให้เท่าภูเขาเลากา ไม่ได้มีความหมายเลย ธรรมสมบัติที่ปรากฏเมื่อคืนนี้ เป็นธรรมสมบัติเหนือรัตนะเงินทองโดยประการทั้งปวง อัศจรรย์ในธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่ง จิตไม่เกี่ยวเกาะด้วยกามคุณเลย”
จนที่สุดท่านก็ตัดสินใจว่าจะไม่ลาสิกขา ทั้งที่เดิมเคยสัญญากับคนรักว่า จะบวชเพียงพรรษาเดียว แล้วจะสึกไปแต่งงานด้วย
อยู่มาวันหนึ่งเดินออกบิณฑบาต เจอคนที่เราเคยรักมาใส่บาตร เราจึงบอกสาวคนที่เรารักนั้นไปว่า 
  “แป้งเอ๊ย...ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่สึกแล้วนะ” จริงๆ แล้วถ้าจะพูดกันให้ชัดๆ ต้องพูดว่า “แป้งเอ๊ย...เราไม่โง่แล้วนะ ไม่ไปเป็นขี้ข้าราคะตัณหาของใครอีกแล้ว” ท่านพูดว่า ถ้าพูดอย่างนั้นกลัวเขาจะเสียใจ
ท่านได้เล่าถึงชีวิตของสาวแป้งว่าในที่สุดก็แต่งงานไปกับชายคนหนึ่ง ใช้ชีวิตและตายไปในที่สุด
...นั้นเห็นไหมเขาไม่ได้อันใดเลย ซึ่งอันนี้แต่ก่อนเป็นสิ่งที่เรารัก ชีวิตที่ไม่ได้พบกัลยาณมิตรมันก็ตายเปล่าไปอย่างนั้น แต่อันนี้เราจะไปพูดกับคนอื่นไม่ได้ บางทีเขาไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอรรถธรรม...”
ชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรมที่มีครูบาอาจารย์ และเพื่อนสหธรรมิก นับเป็นชีวิตที่มีค่า ชีวิตที่ได้ลิ้มรสอมฤตธรรม อันพ้นแล้วจากกิเลสตัณหาทั้งปวง นับเป็นชีวิตที่มีความสุขไม่มีสิ่งใดเปรียบปาน
ในเรื่องความรักและกิเลสตัณหาต่างๆ นี้ หลวงปู่เจี๊ยะได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้ถูกที่สุดว่า
“ผู้ใดขยี้กามราคะ ตัณหา อันเป็นเหมือนเปือกตมได้ ขยี้หนามคือกามราคะ ตัณหาไปเสียได้ ผู้นั้นนับได้ว่าเป็นผู้หมดโมหะ ไม่สะทกสะท้านในนินทา สรรเสริญ ทุกข์หรือสุข ถ้าใครปฏิบัติได้มันก็เป็นอย่างนั้น”