วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

โทษภัยของสังขารธรรม...คัมภีร์พระวิสุทธิมรรค


โทษภัยของสังขารธรรม
(จาก..คัมภีร์พระวิสุทธิมรรค ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าวถึงโทษ และภัยของสังขารธรรมทั้งหลาย ทั้งปวงไว้ดังนี้
๑. ปรากฏประดุจฝีอันใหญ่ อันมีพิษปวดแสบล้นพ้น เกินที่จะอดกลั้นได้
๒. ปรากฏประดุจบังเกิดเป็นโรคพยาธิ เบียดเบียนให้ลำบาก มีเวทนาอยู่เป็นนิจนิรันดร์
๓. ปรากฏประดุจลูกศรเสียบแทงอยู่ในกรัชกาย  สิ้นกาลทุกเมื่อ
๔. เปรียบประดุจหลงเข้าไปอยู่ในถ้ำเสือโคร่งตัวใหญ่  เมื่อเข้าไปนอนหลับระงับกายแล้ว จึงรู้ว่ามีเสือตัวใหญ่อยู่ในถ้ำ ก็สิ้นรัก สิ้นใคร่  สิ้นอาลัย ไม่ยินดีที่จะนอนหลับ
๕. เปรียบบุรุษหลงเข้าไปสู่ประเทศที่มีน้ำลึก ประกอบด้วยจระเข้ มังกร แลผีเสื้อน้ำอาศัยอยู่สำคัญว่าจะอาบน้ำให้สนุกสบาย แต่เมื่อรู้ว่ามีจระเข้ และมังกร แลผีเสื้อน้ำ ก็สิ้นความปรารถนา พิจารณาเห็นแต่โทษนั้นฝ่ายเดียว การพิจารณาเห็นโทษของสังขารธรรม ก็มีอุปไมยฉันนั้น


ขันธ์ 5 ...คัมภีร์พระวิสุทธิมรรค


ขันธ์  5
(จาก ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)

       สภาวะของขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เมื่อมนสิการโดยอนัตตา เห็นอนัตตา  นิมิตปรากฏเป็นภัยอันพิลึกทั้งรูปธรรม  และนามธรรมโดยเปล่า  โดยสูญ
๑. เปรียบประดุจบ้านร้าง  อันว่างเปล่าหาคนอยู่ไม่ได้
๒. เปรียบประดุจพยับแดด ปรากฏเป็นแสงระยับ ๆ แล้วแลเคลื่อนหายไป บัดเดี๋ยวใจ ไม่ยั่งยืน
        สังขารธรรม  ที่พาสัตว์ท่องเที่ยวไปในภพต่าง ๆ  ก็เป็นภัยอันพิลึกแก่พระโยคาพจร  ที่พิจารณาพระอนัตตา  และกระทำมนสิการโดยอนัตตา
       เมื่อพิจารณาเห็นภัยของสังขารธรรมอยู่เนืองๆ ทำให้มาก ๆ  ในขันธสันดานแล้ว ย่อมสิ้นรัก สิ้นใคร่ สิ้นความปรารถนา อาลัย ในสังขารธรรมทั้งหลาย ทั้งปวง  ภพทั้ง ๓ ก็ปรากฏเป็นประดุจ  ขุมถ่านเพลิงอันเป็นเปลวรุ่งโรจน์

       ๑. มหาภูตรูป ทั้ง ๔  คือ ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ)  เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) วาโยธาตุ(ธาตุลม)นั้น ก็ปรากฏประดุจอสรพิษทั้ง ๔ ตัว  ล้วนมีพิษอันพิลึก
       ๒. ปัญจขันธ์ทั้ง ๕ คือ  รูปขันธ์  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  วิญญาณขันธ์นั้น ปรากฏประดุจนายเพชฌฆาตทั้ง ๔ ถือดาบเงือดเงื้อไว้  คอยอยู่ที่จะฟาดฟันให้บรรลัย
       ๓. อายตนะภายในทั้ง ๖  คือ จักขาวายตนะ(ตา)  โสตายตนะ(หู)  ฆานายตนะ(จมูก) ชิวหายาตนะ(ลิ้น)  กายายตนะ(กาย) มนายตนะ(ใจ)นั้น  ปรากฏประดุจบ้านร้าง  บ้านเซ  บ้านเปล่าสูญสิ้นทั้ง ๖ บ้าน
       ๔. อายตนะภายนอกทั้ง ๖ คือ รูปายตนะ(รูป)  สัททายตนะ (เสียง) คันธายตนะ(กลิ่น) รสายตนะ(รส) โผฏฐัพพายตนะ(สัมผัส)  ธัมมายตนะ(ธรรมารมณ์)นั้น  ก็ปรากฏประดุจโจร  ๖ คน  อันมีฝีมือกล้าหยาบช้าทารุณ  เข้าบ้านไหนก็จะฆ่าชาวบ้านนั้น  ให้ถึงซึ่งความพินาศฉิบหาย
วิญญาณฐิติ ๗ (ภูมิที่ตั้งของวิญญาณ ๗ ภูมิ ) และสัตตาวาส ๙ (ภพที่อยู่ของสัตว์ ๙ ภพ)นั้น ปรากฏประดุจเพลิง  ๑๖ กอง ไหม้เป็นเปลวโดยรอบ  กอปรด้วยรัศมีเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ


กามคุณ ๕...คัมภีร์พระวิสุทธิมรรค


  กามคุณ ๕
(จาก...คัมภีร์พระวิสุทธิมรรค ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์)

       สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้เปรียบเทียบ หรือกล่าวถึงโทษของกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ไว้ดังนี้
๑. มีแต่จะทำให้เศร้าหมอง จะกระทำให้ผ่องใส สักหน่อยหนึ่งก็หาบ่มิได้
๒. เปรียบเหมือนคมแฝก คบคา เผาลนจิตสันดานสัตว์ทั้งปวง ให้เดือดร้อนหม่นไหม้อยู่เนืองๆ
๓. เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงใหญ่  ให้โทษอันหยาบช้า  เสวยทุกข์เดือดร้อนยิ่งนัก ดูน่าสะดุ้ง น่ากลัวสุดกำลัง
๔. เปรียบเหมือนความฝัน แปรปรวนไปเป็นอื่น ไม่ยั่ง ไม่ยืน  ไม่เที่ยง  ไม่แท้  ไม่สัตย์  ไม่จริง
๕. เปรียบเหมือนของยืม อันมีกำหนดเท่านั้น เท่านี้ ไม่มั่นคง
๖. เปรียบผลพฤกษาชาติอันบังเกิดแล้ว เป็นเหตุให้บุคคลทั้งปวง หักกิ่งก้านรานใบแห่งพฤกษาชาตินั้น
๗. เปรียบเหมือนคมดาบ สับแลแล่เถือขันธสันดาน  ให้เจ็บปวดยิ่งยวด  เหลือล้นพ้นประมาณ
๘. เปรียบเหมือนหอกใหญ่ และหลาวใหญ่ เสียบร้อยสัตว์ทั้งปวงไว้   ให้ดิ้นรนอยู่ในกองทุกข์ แสนลำบากในเวทนา
๙. เปรียบเหมือนศีรษะแห่งอสรพิษ น่าครั่นน่าคร้าม น่าสะดุ้งน่ากลัว น่าตระหนก ตกประหม่าเป็นกำลัง
๑๐. กามคุณนี้มากไปด้วยสะอื้นอาลัย มากไปด้วยทุกข์ และภัย มีอันตรายเบียดเบียนมาก เป็นของแห่งปุถุชน ไม่ประเสริฐ
      
พระโยคาพจร  พิจารณาเห็นโทษของกามคุณ ๕ แล้ว  ก็รักใคร่ในฌานธรรม หาอุบายที่จะยกตนออกจากกามคุณ ล่วงออกเสียซึ่งความทุกข์ทั้งปวง เมื่อระลึกตรึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณแล้ว  ยังความปรีดาปราโมทย์   มีความเคารพรักใคร่ในเนกขัมมปฏิบัติ

หลงทาง...ธรรมทายาท



หลงทาง
(ธรรมทายาท)

๑.  หลงทางเสียเวลา  หลงตัณหา หาทางออกไม่ได้
๒.  ใคร ?  เล่า  จะช่วยใจเราให้พ้นทุกข์ได้  ถ้าเราไม่ช่วยตนเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทาง” เท่านั้น
๓.  จงเลิกหลงทาง เพราะหลงมานานทุกภพทุกชาติ  มาเดินเส้นทางมรรคมีองค์ ๘  เพื่อการพ้นทุกข์กันเถอะ
๔.  หยุดสังขาร(คิดปรุงแต่ง) หยุดสร้างโลก  ซึ่งล้วนเป็นมายาแห่งจิต เป็นเท็จ เป็นความหลอกลวง หาความจีรังยั่งยืนมิได้
๕.  เลิกหลอกลวง ต้มตุ๋น ตนเองเสียที หลอกลวง ต้มตุ๋น ตนเองมานานแล้ว
๖.  หยุด คือ ตัวสำเร็จ(หมายถึง การหยุดคิดปรุงแต่ง(สังขาร)
๗. ความคิดที่ทำให้เกิดอารมณ์ คือ กิเลส
๘.  เอาจิตของเราออกจากสิ่งที่เป็นมายา ก็ไร้มายา
๙. เอาจิตของเราออกจากสิ่งพัวพัน  ก็ไร้สิ่งพัวพัน
๑๐.  พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องความจริงของทุกสรรพสิ่ง
๑๑.  ทุกสรรพสิ่งในสามโลกเป็นของสูญว่าง  เป็นภาพลวงตา เป็นสิ่งลวงใจ เกิดแล้วก็ดับสลายไป ตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นตัวตนให้ยึดถือเอาเป็นเจ้าของได้