วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

โลกนี้ไม่มีเรา

                                          ~☆โลกนี้ไม่มีเรา☆~
   
     ● เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงตามปรมัตถสัจจะแล้ว รูปหรือร่างกายนี้ว่างเปล่าจากตัวตนจริงๆ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณซึ่งเป็นนามธรรมเป็นอาการของจิตก็ค้นหาตัวตนไม่มี มีแต่ความว่างเปล่าจากตัวตนจริงๆ อีกเช่นกัน

     ● ร่างกายเป็นธาตุของโลก คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มาประชุมรวมตัวกัน(ตามเหตุปัจจัยและกรรมเก่าได้ประมวลมา) ดินมิใช่เรา เรามิใช่ดิน น้ำมิใช่เรา เรามิใช่น้ำ ลมมิใช่เรา เรามิใช่ลม ไฟมิใช่เรา เรามิใช่ไฟ
     
      ● ดังนั้น รูปหรือร่างกายนี้ เป็นเพียงเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องอยู่ เครื่องอาศัย ชั่วขณะหนึ่งของชีวิต และเป็นเราเป็นของเราจริงตามสมมุติบัญญัติเท่านั้น

     ● ในที่สุดธาตุทั้ง ๔ นี้ เขาก็แยกตัวออกจากกัน และสลายไปเป็นธาตุเดิมของเขา ดินกลับไปเป็นดิน น้ำกลับไปเป็นน้ำ ลมกลับไปเป็นลม ไฟก็กลับไปเป็นไฟ
    ● พระพุทธองค์เปรียบรูปดังกลุ่มของฟองน้ำที่เกิดขึ้นในแม่น้ำคงคา เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เมื่อถูกกระแสน้ำพัดพาไปแล้ว ก็จะสลายไปใกล้บ้าง ไกลบ้าง หาสาระแก่นสารมิได้
     ● เราคือจิต และแม้แต่จิตจริงๆ แล้ว ก็มิใช่เรามิใช่ของเราอีกเช่นกัน เพราะเมื่อพิจารณาค้นคว้าหาตัวตนของจิตจริงๆ แล้วจะพบแต่ความว่างเปล่าไร้ตัวตน มีแต่อาการของจิตหรือเจตสิก ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดดับๆๆ ไปตามเหตุตามปัจจัย แสดงอาการให้เห็นติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา แม้ยามหลับบางครั้งก็มีสัญญาอารมณ์เกิดขึ้นเป็นความฝัน
     ♢ เวทนา คือ การเสวยอารมณ์ เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายสัมผัสร้อนเย็นอ่อนแข็ง ใจรับธรรมารมณ์ต่างๆ (เรื่องราวต่างๆ) เปรียบดังต่อมน้ำเกิดขึ้นแล้วดับไปเร็วฉับพลัน หาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตน
     ♢ สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เปรียบดังพยับแดดเต้นระยิบระยับ หลอกให้หลง คอยหลอกหลอนความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลา หาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตน
     ♢ สังขาร คือ การคิดปรุงแต่งไปตามสัญญาอารมณ์ เปรียบดังต้นกล้วยพอกหนาเป็นชั้นๆ เมื่อลอกออกทีละชั้นๆ แล้ว ก็หาแก่น หาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตน
     ♢ วิญญาณ คือ ธาตุรู้ (หรือความรู้ - ผู้รู้คือจิต)ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เปรียบดังนักเล่นกล และกลนั้นหาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตนอีกเช่นกัน
    ● สรุป ขันธ์ทั้ง ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มิใช่ตน มิใช่ของตน ถ้าเป็นตนเป็นของตนจริงแล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ ต้องอยู่ในอำนาจของเรา เราสามารถควบคุมบังคับบัญชาให้เขาเป็นไปตามความปรารถนาต้องการได้
    ● แต่เพราะขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา(มิใช่ตัวตนของผู้หนึ่งผู้ใด) เป็นเพียงกระแสของธรรมหรือธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วดับไปตามเหตุตามปัจจัยของเขาสืบเนื่องติดต่อกันไปตามอำนาจของอวิชชา(ความไม่รู้)
    ● เมื่อมีจิตตั้งมั่นมีความเพียรพิจารณาขันธ์ ๕ อยู่อย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องเป็นเนืองนิตย์ทุกกาลเวลา เพื่อให้จิตได้รับรู้และเห็นตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ นั้นเป็นกองทุกข์ หาสาระมิได้ ว่างเปล่าจากตัวตน มิใช่ตน มิใช่ของตนจริงๆ จนจิตเกิดความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัดยินดีในขันธ์ ๕ เมื่อปฏิบัติอยู่เช่นนี้แล้ว กิเลสตัวใดก็ไม่อาจตั้งอยู่ในจิตใจของเราได้
   
    ● และเมื่อนั้นจิตก็เป็นอิสระ สิ้นภพชาติได้ในที่สุด เป็นอันจบกิจ(พรหมจรรย์)ในพระพุทธศาสนา สมกับพระพุทธประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาอย่างอุกฤษฏ์และยาวนานถึงสี่อสงไขย เศษอีกหนึ่งแสนมหากัป ทรงสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์ พระราชบัลลังก์ พระชายา พระโอรสธิดา ดวงตา อวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกาย และแม้ชีวิต เพื่อการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความปรารถนาจะช่วยขนถ่ายสัตว์โลกทั้งหลาย รวมทั้งตัวเราด้วย ให้พ้นทุกข์ในวัฏสงสาร.