วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

กัมมัฏฐาน ๕ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน


     
พระเวลามาบวชแล้ว ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติต่อหน้าที่การงานของตน เวลาบวชทีแรกท่านก็ประทานอาวุธอันสำคัญให้ เป็นทั้งฝ่ายสมถะคือความสงบร่มเย็น โดยอาศัยกรรมฐาน ๕ เป็นเครื่องบริกรรม เป็นได้ทั้งวิปัสสนาแยกแยะกรรมฐาน ๕ คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี้เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา การบวชเบื้องต้นจะพิจารณาหรือบริกรรมคำใดในกรรมฐาน ๕ นี้ ก็บริกรรมตามจริตนิสัยชอบของตน มีสติเป็นเครื่องกำกับรักษาให้จิตอยู่กับคำบริกรรม มีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น อาการใดอาการหนึ่ง เป็นเครื่องผูกมัดจิตใจ ให้จิตใจได้เกาะได้ยึดกับกรรมฐานบทนั้นๆ ด้วยความมีสติจดจ่อติดเนื่องกันไปโดยลำดับลำดา นี่ท่านเรียกว่าภาวนา
ภาวนาเป็นคำกลางๆ การสอนผู้สอนไม่เคยภาวนาก็สอนแบบงูๆ ปลาๆ ไปอย่างนั้นแหละ และผู้ทำก็ทำแบบงูๆ ปลาๆ สุดท้ายที่ได้มาก็ไม่ทราบ งูๆ ปลาๆ เลยคละเคล้ากันไปหมด ไม่ได้ผลประโยชน์แต่อย่างใด การสอนนี่ท่านสอนเช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราจะนำเกสามาเป็นคำบริกรรมด้วยความมีสติสืบเนื่อง หรือติดต่อสืบเนื่องกันเป็นลำดับลำดา ไม่ยอมให้เผลอกับคำบริกรรมนั้นๆ ที่เราชอบใจนำมาบริกรรมอย่างนี้ก็ได้ ในกรรมฐาน ๕ มีสติกำกับอยู่กับเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
ท่านพูดเพียงตโจ นี่ก็เพราะถึงประโยคใหญ่แล้ว ตโจก็คือหนัง ที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล หลงเขาหลงเรา ภูเขาภูเราอยู่เวลานี้ ก็เพราะหนังบางๆ นี่เท่านั้นแหละ ไม่ได้หนาอะไรเลย นี่ละปิดหูปิดตาสัตว์ทั้งหลายไว้ ให้เป็นของมีค่ามีราคาขึ้นมา ทั้งๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีค่ามีราคาอะไรแหละ พอหนังหุ้มห่อเข้าไปแล้ว ก็เลยกลายเป็นของมีค่ามีราคาไป ท่านจึงสอนให้พิจารณาถึงหลักความจริง สำหรับผู้ต้องการให้หลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริงแล้ว ให้ถืองาน ๕ ประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญแห่งการพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นคำบริกรรมกำกับก็ได้
จากนั้นก็พิจารณาเข้าไปถึงภายใน ถึงตโจแล้วก็เข้าไปภายใน เนื้อหนังมังสัง อาการ ๓๒ เต็มอยู่ภายในนี้ ซึ่งล้วนแล้วตั้งแต่เป็นของปฏิกูลโสโครกหมด ให้พิจารณาด้วยสติปัญญา แล้วใจจะค่อยเข้าอกเข้าใจตามหลักความเป็นจริง ที่มีอยู่ในกายเขากายเรา แล้วความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิด และกองทุกข์ทั้งหลายที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็จะจางลงไปๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น