"ความตายไม่มีจริงในโลก"
อันว่าความตายตามโลกสมมุติบัญญัตินั้น
เป็นความหลอกลวงของรูปนามในจักรวาล ไม่ใช่ความจริงแท้
ธาตุทั้ง ๔ ในกายนั้น มิได้ตายหรือสูญสลายหายไปจากโลก
ส่วนจิตนั้นก็ไม่ตาย เป็นธาตุอมตะ ว่างเปล่า ไร้ตัวตน ไม่มีผู้สร้าง
และมิอาจทำลายได้ แต่มีธรรมชาติเป็นผู้รู้หรือธาตุรู้ มีชื่อเรียกว่า
"จิตธาตุบ้าง มโนธาตุบ้าง วิญญาณธาตุบ้าง"
ร่างกาย(รูป) อันประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ดิน ลม ไฟนี้
เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่น่ายินดี หาได้เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่
เราได้มาอาศัยรูปนี้ด้วยอำนาจของกรรม (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม)ที่เป็นกุศล
หรืออกุศล
ธาตุทั้ง ๔ นี้ ไม่ได้ตายไปจากโลก ไม่ได้สูญสลายหายไปจากโลก
เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็แตกสลายไป กลับไปเป็นธาตุเดิมของเขา
ดินกลับไปเป็นดิน น้ำกลับไปเป็นน้ำ ลมกลับไปเป็นลม ไฟกลับไปเป็นไฟ
ส่วนนาม(น้อมไปได้: คือจิต ซึ่งเป็นผู้รู้) ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณนั้น เป็นอาการของจิต หาได้เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่เช่นกัน
เกิดขึ้นโดยอาศัยรูปเป็นเหตุ ผ่านทางอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
กระทบสัมผัสกับอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส)
และธรรมารมณ์
ตามความเป็นจริงแล้ว รูปเป็นสักแต่ว่าธาตุของโลก ไม่ใช่เรา มิใช่ของเรา
ส่วนนามทั้ง ๔ นั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยรูปด้วยอำนาจของอวิชชาคือกิเลส จะเป็นเรา
เป็นของเราได้อย่างไร
จิตได้เข้ามาอิงอาศัยรูป เป็นเครื่องอยู่ เครื่องอาศัย เครื่องรู้
เครื่องระลึก ชั่วขณะหนึ่งตามอำนาจของกรรมในภพชาติหนึ่งๆ เท่านั้น เราคือจิต และความจริงแท้แม้แต่จิตก็ไม่ใช่เรา
รูปมิใช่เรา มิใช่ของเราจริง แต่เป็นเพราะอวิชชา (ความไม่รู้จริง
ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เพราะขาดการคิดพิจารณาหาความเป็นจริง: โยนิโสมนสิการ)
จิตจึงหลงยึดถือเป็นตน เป็นของตน
อวิชชานั้น เป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปฯ ตามปฏิจจสมุปบาท
เมื่อหลงยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตนเป็นของตนย่อมเป็นทุกข์
เพราะขันธ์มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาตามกฎของธรรมชาติ(ไตรลักษณ์ :
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ถ้ายึดมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย
ไม่ยึดเลยก็ไม่ทุกข์เลย
ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ก็คืออุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง เพราะอุปาทานขันธ์ ๕
จึงเกิดตัณหา ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันเป็นเหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)
มรรคมีองค์ ๘ (ว่าโดยย่อ: ศีล สมาธิ ปัญญา) เป็นสายกลางเพื่อการดับทุกข์
(นิโรธ)ผู้ปฏิบัติจะรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ซึ่งรู้ได้เฉพาะตน
"จิตเป็นธาตุรู้" พร้อมที่จะรู้ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาทางตา หู
จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่สิ่งที่จิตรู้ มักจะรู้ผิดซึ่งเป็นความหลง
เมื่อฝึกฝนอบรมจิตด้วยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว นามทั้ง ๔ (เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ) ที่เกิดขึ้นทางใจด้วยอำนาจของกิเลสทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง
และอย่างละเอียด จะค่อยๆ ดับหมดไปด้วยความเพียร
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ชี้ทางสว่างแห่งปัญญาแก่ผู้ที่หลงทาง ดุจดังส่องประทีปให้ในที่มืด
เปิดของที่ปิดอยู่ให้เราเห็น หงายของที่คว่ำอยู่ให้เราดู
ศาสนิกชนผู้ได้สดับแล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติตาม
จะสามารถออกจากข่ายแห่งความหลงนี้ไปได้
พระคุณของพระพุทธองค์นั้นมีมากเกินกว่าที่จะประมาณได้
เป็นบุญของเราแล้วหนอที่ได้เกิดมาพบพระศาสนาของพระองค์ สาธุ สาธุ สาธุ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น