วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หลักการภาวนา (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)




หลักการภาวนา
(หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท) 

การตั้งปณิธานในการพิจารณาหลักใหญ่นั้นท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ ท่านให้เราหัดคิดทวนกระแส หรือที่เป็นแนวความคิดดั้งเดิมของเรา เป็นต้น
เราเคยคิด และติดใจอยู่ในสมาธิมาแล้ว เราก็ต้องคิดทวนกระแสสมาธินั้นอย่างหนัก เช่น การทำสมาธิแล้วจิตสงบได้หลาย ๆ ชั่วโมงหรือจิตเกิดไปรู้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ ก็ต้องหยุดไว้ก่อนไม่เอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์
เราต้องตั้งสติพิจารณาทันที โดยเริ่มด้วยการพิจารณาที่กาย ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น และต้องไม่ให้สมาธิมารบกวนในการพิจารณานี้ได้เลย ผลที่จะได้รับนั้นก็จะคุ้มค่าสำหรับการพิจารณาทวนกระแส
การพิจารณาทวนกระแสนี้ มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการใช้ความคิด และการพิจารณาอย่างรอบคอบในขันธ์ ๕ เมื่อมีสติจดจ่อในขันธ์ ๕ ปัญญาหรือความคิดเกี่ยวกับขันธ์ ๕ จะเป็นไปอย่างคล่องแคล่ว และรวดเร็วว่องไวอย่างที่สุด จนทำให้ผู้ภาวนาไม่สามารถหยุดพิจารณาได้
  จึงทำให้ดูเหมือน เป็นผู้ที่มีความคิดฟุ้งซ่านไปอย่างมาก เช่น พิจารณารูปไม่หยุด เมื่อตาสัมผัสกับรูป ก็จะพิจารณารูปนั้น ๆ ทันที และโดยละเอียดกว้างขวางไปเรื่อยจนไม่มีขอบเขต หรือที่เรียกว่ามากจนเกินพอกลายเป็นฟุ้งไป ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องของการพิจารณาธรรมะล้วน ๆ
วิธีแก้ก็ต้องอาศัยสติยับยั้ง และอาศัยการเข้าสมาธิ เพื่อพักผ่อนใจให้สงบจากการพิจารณาชั่วคราว เมื่อจิตได้พักพอมีกำลังแล้วจึงพิจารณาต่อไปใหม่
การดำเนินการปฏิบัติธรรมโดยวิธีจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง และส่งผลไปสู่ความเข้าใจในขันธ์ ๕ อย่างถ่องแท้(นี่คือผลของการใช้วิธีพิจารณาในการปฏิบัติธรรมในขั้นต้น)
การพิจารณาอย่างนี้หากดำเนินไปเรื่อย ๆ จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติไม่ยึดในกายสังขาร แต่ก็เฉพาะเมื่อกายสังขารของผู้ปฏิบัตินั้น ยังสมบูรณ์เป็นปกติอยู่ นั้นก็คือ ไม่ยึดก็จริง แต่ยังไม่ถือว่า เป็นขั้นเด็ดขาด
เพราะหากผู้ปฏิบัตินั้นเกิดเจ็บป่วยขึ้นอย่างรุนแรง ความยึดติดในกายสังขารของผู้ปฏิบัตินั้น ก็จะปรากฏขึ้นทันที เช่น มีอาการกลัวตาย หรือจิตจะเข้ามาบงการ เพื่อขจัดปัดเป่าความเจ็บป่วยนั้น
ซึ่งโดยสรุป ก็คือ ความกลัวตายนั่นเอง ซึ่งก็เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการยังเป็นผู้ยึดติดในกายสังขาร นั่นเอง
สิ่งที่สมควรจะย้อนกลับมาดูผล ในการพิจารณาขันธ์ ๕ ของตน ก็คือพิจารณาขันธ์ ๕ ของผู้ปฏิบัตินั้น ยังไม่เพียงพอ ยังเป็นผู้ยึดติดในขันธ์ ๕ ของตนอยู่ หากผู้ปฏิบัติเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการพิจารณาก็จะเกิดการฮึดสู้ และพิจารณาในขั้นต่อไปได้
การพิจารณาถึงเวทนา ความเจ็บป่วยที่เกิดแก่ตัวผู้ปฏิบัติ ในขณะนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นเวทนาเป็นไตรลักษณ์ และไม่ติดในเวทนา ไม่ว่าจะเป็นเวทนาในทางบวก คือการอยากหายอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป และเวทนาในทางลบ คือต้องการให้การเจ็บป่วยระงับไปโดยเร็ว เช่น ฆ่าตัวตาย
เมื่อผู้ปฏิบัติไม่ติดอยู่ในเวทนา จิตย่อมเป็นอิสระจากเวทนา หากนักปฏิบัติภาวนาไม่รอบคอบ คิดว่าเวทนาเป็นข้าศึกของจิตใจแต่ฝ่ายเดียว ก็จะไม่รู้เท่าทันเวทนาได้โดยสมบูรณ์
ธาตุขันธ์ทรงตัวอยู่ได้ก็เพราะเวทนา หากเวทนาบกพร่องร่างกายก็จะไม่สมบูรณ์ เช่น ขาข้างซ้ายไม่มีเวทนาอยู่เลย หรือที่เป็นอัมพาต การเดินก็จะทำได้ยาก เพราะเหตุที่เวทนาที่บังคับขาซ้าย ไม่สมบูรณ์
ฉะนั้น เวทนาไม่ว่าจะในการบวกหรือลบ "ย่อมมีคุณอยู่เหมือนกันสำหรับผู้รู้ แต่จะมีโทษสำหรับผู้หลง” เมื่อเวทนาเกิดขึ้น จิตที่จะแส่ส่ายออกไปรับรู้ภายนอกนั้น ค่อนข้างจะยาก จิตจึงเริ่มรวมตัวใกล้ชิด โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมเข้าช่วยลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า "เวทนาอบรมสมาธิก็ได้" แต่ต้องอาศัยผู้ที่ห้าวหาญ ต่อความเป็นจริงของเวทนา ซึ่งเป็นลักษณะของจิตที่ออกจะดื้อหรือรวมตัวได้ยาก
เวทนาเมื่อเกิดขึ้นหากไปเอาสมาธิเข้าระงับ ยอมรับความจริง โดยใช้ปัญญาเข้าคลี่คลายแก้ไขทันที นี่เป็นผลของเวทนาอบรมปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น