วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ใกล้มรรคผล เมื่อเข้าใจพุทธธรรม...ธรรมทายาท



ใกล้มรรคผล
เมื่อเข้าใจพุทธธรรม
(ธรรมะจากพระพุทธโอษฐ์...สรุปโดย..ธรรมทายาท)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า  “บรรดามรรค มรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด, บรรดาสัจจะ อริยสัจ ๔ ประเสริฐที่สุด, บรรดาธรรม วิราคธรรม ประเสริฐที่สุด(ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ, ความคลายกำหนัดยินดี) บรรดาสัตว์สองเท้า ตถาคตผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด”   
พระธรรมวินัยที่พระตถาคตเจ้าประกาศไว้แล้ว มีความไพเราะ ชัดเจน แจ่มแจ้ง โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด” เมื่อปิดบังไว้ไม่รุ่งเรือง  เปิดเผยจึงรุ่งเรือง

อริยสัจ ๔  เป็นหลักธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐ  ๔ ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ผู้ใดศึกษาแล้ว นำไปปฏิบัติตามสามารถพ้นทุกข์ได้จริง  ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นเหตุ เป็นผลของกันและกัน แบ่งเป็น ๒ คู่  ได้แก่
คู่ที่ ๑. ทุกข์     เป็นผล  ต้องกำหนดรู้  
         สมุทัย   เป็นเหตุ ต้องกำหนดละ
คู่ที่ ๒. นิโรธ    เป็นผล  ต้องทำให้แจ้ง           
         มรรค   เป็นเหตุ ต้องเจริญให้มาก

ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ  สรุปรวบยอดคืออุปาทานขันธ์ ๕ (ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นทุกข์ 

สมุทัย คือ สาเหตุของความทุกข์ หรือปัญหา ได้แก่ ตัณหา ๓  มี กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกาม ได้แก่ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  ภวตัณหา คือ ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่  อยากคงอยู่  มีอยู่ตลอดไป และวิภวตัณหา คือ ความอยากไม่มี ไม่เป็น  อยากตาย  อยากดับสูญ 

นิโรธ  คือ การดับทุกข์ หรือแก้ปัญหา ต้องทำให้แจ้ง  ทำให้สำเร็จอย่างสมบูรณ์  ระดับสูงสุดคือ นิพพาน  ซึ่งดับได้ด้วยการข่มไว้ด้วยอำนาจของฌาน  ดับด้วยองค์ธรรมที่เป็นคู่ปรับ  ดับด้วยการตัดขาดด้วยโลกุตตรมรรค  ดับด้วยสงบระงับอันอาศัยโลกุตตรมรรค และดับด้วยการสลัดออกคือดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่อมตธาตุคือนิพพาน

มรรค  คือ วิธีการปฏิบัติเพื่อแก้ทุกข์ หรือแก้ปัญหาให้สำเร็จ  ต้องเจริญหรือปฏิบัติให้มาก ๆ มีองค์ประกอบ ๘ ประการ ได้แก่ มีความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) มีความดำริชอบ(สัมมาสังกัปปะ)  มีการเจรจาชอบ(สัมมาวาจา)  มีการกระทำชอบ(สัมมากัมมันตะ)  มีการเลี้ยงชีพชอบ(สัมมาอาชีวะ)  มีความพยายามชอบ(สัมมาวายามะ)  มีการระลึกชอบ(สัมมาสติ) และมีการตั้งจิตมั่นชอบ(สัมมาสมาธิ) 

การเห็นทุกข์  เห็นโทษ  เห็นภัยของกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมมารมณ์ทั้งหลาย ซึ่งให้ความสุขขั้นต่ำ ที่สัตว์โลกพากันลุ่มหลงมัวเมา  ตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า “กามไม่เที่ยง ว่างเปล่า เป็นเท็จ  เป็นอนัตตา  เป็นดุจโรค  เป็นดังหัวฝี   เป็นความหลอกลวง  เป็นบ่วงของมาร   เป็นเหยื่อของมาร  เป็นที่โคจรของมาร  เปรียบดังหลุมถ่านเพลิง  เปรียบดังความฝัน  เปรียบดังคนยืมทรัพย์เขามา  เปรียบดังผลไม้คาต้น”  เมื่อพิจารณาเห็นความจริงเกี่ยวกับกาม  ย่อมเบื่อหน่ายในกาม  ปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากกาม และหาทางออกจากกาม

การพิจารณาเห็นความจริงตามพระพุทธดำรัส ในอายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่างเปล่าจากตัวตน เปรียบดังหมู่บ้านร้าง อายตนะภายนอก ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ เปรียบดังนักฆ่าผู้เป็นสายลับ ๖ จำพวก เงื้อดาบติดตามมา พร้อมประหารผู้หลงกำหนัดยินดีให้ตายโดยฉับพลันอย่างไร้ความเมตตาปราณี   

 ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  เปรียบดังนักฆ่าผู้เป็นศัตรู ๕ จำพวก ที่เงื้อดาบขึ้น พร้อมที่จะฆ่าฟันผู้ที่หลงยึดมั่นถือมั่นขันธ์ ๕ เป็นตัว เป็นตน เป็นของของตน  ให้ตายจากความสุข ให้ตายจากกุศลธรรมหรือคุณงามความดีทั้งหลายในฉับพลันทันที 

การหลงเพลิดเพลิน ชื่นชม เชยชม ยึดติดรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็จะถูกรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเคี้ยวกินเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง  เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ  ผันแปรเปลี่ยนในทางที่ไม่พึงปรารถนาก็เป็นทุกข์

เมื่อพิจารณาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้  ตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตนเราเขา (ตามกฎไตรลักษณ์) ย่อมทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในรูป  ในเวทนา  ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ  ไม่ยินดี ไม่ยึดติดในขันธ์ ๕  ไม่มีความปรารถนาการมีขันธ์ ๕ ในภพชาติต่อไป ก็คิดหาช่องทางปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระออกจากขันธ์ ๕  

การพิจารณาเห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาท  ซึ่งเป็นกระบวนการของชีวิต  เป็นกฎแห่งความเป็นเหตุผลของกันและกัน สายเกิด เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี  เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี  เพราะนามรูปเป็นปัจจัย  สฬายตนะ(อายตนะ ๖)จึงมี  เพราะ สฬายตนะเป็นปัจจัย  ผัสสะจึงมี  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี  เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ  โทมนัส อุปายาสะ จึงมี  ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล  มีด้วยประการฉะนี้

และพิจารณาเห็นแจ้งในปฏิจจสมุปบาท กฎแห่งความเป็นเหตุผลของกันและกัน สายดับ เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ  เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ  เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ  เพราะนามรูปดับ  สฬายตนะ(อายตนะ ๖)จึงดับ  เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ  เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ  เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ  โทมนัส อุปายาสะ จึงดับ  ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวล มีด้วยประการฉะนี้

        การเจริญสัญญาต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ มีหลายประการ เมื่อเจริญให้มาก ทำให้มากแล้ว  ย่อมมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ(นิพพาน) มีอมตะเป็นที่สุด ซึ่งผู้มีความปรารถนาดับทุกข์ สิ้นทุกข์จริงๆ  สามารถปฏิบัติตามได้โดยไม่ยากนัก ได้แก่
นิโรธสัญญา คือ การกำหนดหมายนิโรธ(ดับตัณหา)เป็นธรรมละเอียดประณีต ได้แก่การดับความจำได้หมายรู้ในรูปธรรม และนามธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
อสุภสัญญา คือ การกำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย
มรณสัญญา คือ การกำหนดหมายความตายที่จะต้องมาถึงเป็นธรรมดา  
อาหาเร ปฏิกูลสัญญา คือ การกำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร      
สัพพโลเก อนภิรตสัญญา คือ การกำหนดหมายความไม่เพลิดเพลินในโลก  
อนิจจสัญญา คือ การกำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร
อนิจเจ ทุกขสัญญา คือ การกำหนดหมายความเป็นทุกข์ในความไม่เที่ยงแห่งสังขาร
ทุกเข อนัตตสัญญา คือ การกำหนดหมายความเป็นอนัตตาในความทุกข์
ปหานสัญญา คือ การกำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตก และบาปธรรมทั้งหลาย
วิราคสัญญา คือ การกำหนดหมายวิราคะเป็นธรรมละเอียดประณีต(ความสิ้นกำหนัดยินดี)  
อัฏฐิกสัญญา คือ การกำหนดหมายซากศพ ที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก หรือกระดูกท่อน 
ปุฬุวกสัญญา คือ การกำหนดหมาย ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด
วินีลกสัญญา คือ การกำหนดหมายซากศพ ที่มีสีเขียวคลาคล่ำ ด้วยสีต่าง ๆ  
วิจฉิททกสัญญา คือ การกำหนดหมาย ซากศพที่ขาดจากกันเป็น ๒ ท่อน  
อุทธุมาตกสัญญา คือ การกำหนดหมาย ซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด  

ผู้ปฏิบัติมีจิตตั้งมั่นพิจารณาอยู่ในสัญญาต่างๆ ดังกล่าวนี้อยู่เป็นเนืองนิตย์  วิชชาย่อมเกิดขึ้น  อวิชชาดับ กิเลสตัณหาทั้งปวงก็ครอบงำจิตไม่ได้  เมื่อนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า พึงหวังผล อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง  คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อมีอุปาทานเหลืออยู่ จักเป็นอนาคามี เพราะฉะนั้น จึงจะเห็นได้ว่ามรรคผลนิพพานนั้น  ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม อยู่แค่เอื้อมจริง ๆ  ทั้งนี้  ขึ้นอยู่ที่เราจะเอื้อมเอามาเป็นสมบัติของตนหรือไม่เท่านั้น

การเจริญปฐมฌาน เจริญทุติยฌาน เจริญตติยฌาน และเจริญจตุตถฌาน อย่างใดอย่างหนึ่ง และพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปฐมฌานนั้น  ในทุติยฌานนั้น  ในตติยฌานนั้น  ในจตุตถฌานนั้น  โดยความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เสียดแทง  เป็นดังหัวฝี  เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคับแค้น เบียดเบียน ไม่อยู่ในอำนาจ หลังจากตายแล้ว  ย่อมจุติเป็นเทวดาชั้นสุทธาวาส ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติได้ฌานในระดับใด

และการเจริญเมตตาจิต  กรุณาจิต  มุทิตาจิต  อุเบกขาจิต  แผ่ไปทั่วทุกทิศ ด้วยเมตตาจิต  กรุณาจิต  มุทิตาจิต  อุเบกขาจิตอันไพบูลย์  ชอบใจ ติดใจ ปลื้มใจ และดำรงอยู่ในเมตตาฌานนั้น  ในกรุณาฌานนั้น  ในมุทิตาฌานนั้น  ในอุเบกขาฌานนั้นโดยมาก  ไม่เสื่อม  เมื่อตายไป  ย่อมจุติเป็นเทวดาชั้นสุทธาวาส  คนที่เป็นปุถุชนดำรงอยู่ในพรหมโลก จนสิ้นอายุที่กำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นแล้ว ไปสู่นรกบ้าง  ไปสู่สัตว์เดรัจฉานบ้าง ไปสู่แดนเปรตบ้าง  ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าดำรงอยู่ในชั้นหมู่พรหมจนสิ้นอายุที่กำหนดอายุของเทวดาเหล่านั้นแล้ว ปรินิพพานในภพนั้น

หรือเมื่อพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ในเมตตาฌานนั้น  อยู่ในกรุณาฌานนั้น  อยู่ในมุทิตาฌานนั้น  อยู่ในอุเบกขาฌานนั้น  โดยความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เสียดแทง  เป็นดังหัวฝี  เป็นดังลูกศร  เป็นสิ่งคับแค้นเบียดเบียน  ไม่อยู่ในอำนาจ  หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดเป็นเทวดาชั้นสุทธาวาส  ซึ่งไม่ใช่มีทั่วไปสำหรับปุถุชนทั้งหลาย

        นอกจากนี้ การเจริญธรรม ๓ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ ได้แก่ สุญญตสมาธิ  คือ มีสมาธิพิจารณาเห็นความว่าง  อนิมิตตสมาธิ คือ มีสมาธิพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต  อัปปณิหิตสมาธิ คือ มีสมาธิพิจารณาธรรมไม่มีความตั้งความปรารถนา และเมื่อนั้นจะได้ วิโมกข์ ๓  คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส  ๓ ประการ   
๑. สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตา  มองเห็นความว่างของรูปธรรม นามธรรม แล้วถอนความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงได้
๒. อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจัง  มองเห็นความไม่เที่ยงของทุกสรรพสิ่ง แล้วถอนนิมิตในรูปธรรม และนามธรรมได้
๓. อัปปาณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกข์  มองเห็นความทนอยู่ไม่ได้ของรูปธรรม นามธรรมทั้งปวง  แล้วถอนความปรารถนาในทุกสรรพสิ่งได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอน หลักธรรมที่ชื่อว่า “แว่นธรรม” ไว้เพื่อให้พุทธบริษัทใช้เป็นเครื่องมือ เมื่อประสงค์พยากรณ์ตนเองว่า หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปสู่นรก  หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปสู่สัตว์เดรัจฉาน  หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปสู่แดนเปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว  เป็นพระโสดาบันไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า  ได้แก่ มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า  ในพระธรรม  ในพระสงฆ์  มีศีลที่พระอริยะชอบใจไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหา และทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ

        เมื่อพุทธบริษัทอบรมจิตดีด้วยปัญญา เมื่อนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าบุคคลนั้น  รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป  คือ จิตปราศจากราคะแล้ว  จิตปราศจากโทสะแล้ว  จิตปราศจากโมหะแล้ว  จิตไม่มีราคะเป็นธรรมดา  จิตไม่มีโทสะเป็นธรรมดา จิตไม่มีโมหะเป็นธรรมดา จิตไม่กลับมาในกามภพเป็นธรรมดา  จิตไม่กลับมาในรูปภพเป็นธรรมดา และจิตไม่กลับมาในอรูปภพเป็นธรรมดา

บุคคลผู้เชื่อมั่นในพระตถาคตเจ้า ๕ จำพวก มีความสำเร็จในโลกนี้ คือ 
    ๑. พระสัตตักขัตตุปรมโสดาบัน หมายถึง พระโสดาบัน ผู้ไม่ตกไปในอบาย ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน  เป็นผู้เกิดในภพใหม่เป็นเทวดา หรือมนุษย์ไม่เกิน ๗ ครั้ง จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์  
    ๒. พระโกลังโกลโสดาบัน หมายถึง พระโสดาบัน ผู้เกิดในภพใหม่เป็นเทวดาหรือมนุษย์  เกิดในตระกูลมีโภคสมบัติมาก ไม่เกิดในตระกูลต่ำ เกิดไม่เกิน ๒-๓  ครั้ง จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์
    ๓. พระเอกพิชีโสดาบัน หมายถึง พระโสดาบัน ผู้เกิดอีกครั้งเดียว ก็บรรลุอรหัตตผล   
    ๔. พระสกทาคามี หมายถึงพระอริยบุคคล ผู้เกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์อีกชาติเดียว ก็บรรลุอรหัตตผล  
    ๕. พระอรหันต์ในปัจจุบัน

บุคคลอีก ๕ จำพวก คือ พระอนาคามี ละโลกนี้ไปแล้วจึงสำเร็จ ได้แก่ 
     ๑. อันตราปรินิพพายี คือ ผู้ปรินิพพานระหว่าง  เกิดในสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่ง อายุยังไม่ถึงกึ่ง  ก็ปรินิพพานโดยกิเลสนิพพาน   
    ๒. อุปหัจจปรินิพพายี คือ ผู้เกิดในสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่ง อายุพ้นกึ่งแล้ว จวนจะถึงสิ้นอายุจึงปรินิพพาน  
    ๓. อสังขารปรินิพพายี คือ ผู้บรรลุอรหัตตผล โดยไม่ต้องใช้ความเพียรมาก  
    ๔. สังขารปรินิพพายี คือ ผู้เกิดในสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่ง บรรลุอรหัตตผลโดยใช้ความเพียรมาก   
    ๕. อุทธังโสตอกนิฏฐคามี คือ ผู้มีกระแสสูงในเบื้องบนไปสู่ชั้นอกนิฏฐาภพ คือเกิดในสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วเลื่อนต่อไปถึงชั้นอกนิฏฐาภพ แล้วจึงปรินิพพาน

ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น “มีความงามไพเราะในเบื้องต้นด้วยศีล  มีความงามไพเราะในท่ามกลางด้วยสมาธิ  มีความงามไพเราะในที่สุด และสูงสุดด้วยปัญญา”  

พระพุทธองค์ตรัสว่า  “สำหรับบุคคลที่ตื่นอยู่ตลอดเวลา  หมั่นศึกษาไตรสิกขา(ศีล สมาธิ ปัญญา)ทั้งกลางวัน และกลางคืน  น้อมจิตเข้าหานิพพาน  อาสวะทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ไม่ได้” 

มรรคผลนิพพานนั้น  ไม่ได้สูญหายไปกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติเวลาใด ได้ผลในเวลานั้น  ปฏิบัติกันอย่างมีความสุข ผลที่ได้รับก็เป็นความสุขที่แท้จริงของชีวิต


อสงไขย...พระพรหมโมลี

อสงไขย
(วิมุตติรัตนมาลี เล่ม ๑ ของพระพรหมโมลี  (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) 
อสงไขยกถา กล่าวถึงกาลเวลาที่เรียกว่า อสงไขย คือ กำหนดเวลาที่มากมาย ยาวนานเหลือเกินที่จะนับจะประมาณได้
คำว่า "อสงไขย" แปลว่า นับไม่ได้ เปรียบดังฝนตกใหญ่มโหฬารตลอดคืน ตลอดวัน ติดต่อกัน ๓ ปี จนน้ำสูงเจิ่ง นองท่วมท้น เต็มขอบเขาจักรวาล สูง ๘๔,๐๐ โยชน์ หากมีเทวดาผู้วิเศษสามารถนับเม็ดฝน และหยาดน้ำฝน ที่กระจายเป็นฟองฝอยน้อยใหญ่ทั้งหมดได้ จำนวนเท่าใด นั่นแหละคือ อสงไขยหนึ่ง