วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ธรรมะหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ...จากหนังสือมุตโตทัย



  ธรรมะหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
(สรุปจากหนังสือ มุตโตทัย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

ผู้ใดสำรอกอวิชชาได้ ย่อมเข้าสู่แดนอันเกษม มีปรินิพพานเป็นที่สุด
ลูกของอวิชชา คือ สังขาร (การคิดปรุงแต่ง เป็นอาการของจิต)
หลานของอวิชชา คือ นิวรณ์ ๕ (กิเลส - ตัวปิดกั้นจิต มิให้บรรลุถึงความดี)
เหลนของอวิชชา คือ อโยนิโสมนสิการ (การไม่น้อมจิตคิดพิจารณาธรรม โดยแยบคาย)
โหลนของอวิชชา คือ วัฏกิเลส วัฏกรรม วัฏสังสาร

มนุษย์มีบิดามารดาเป็นแดนเกิด

นโม แยกเป็น ๒ ธาตุ คือ
    ๑. น - ธาตุน้ำ (แม่)   ๒.โม ธาตุดิน (พ่อ)
ฐีติภูตํ คือ จิตเดิมแท้ เป็นแดนเกิดของ "อวิชชา" เพราะมีความหลง ซึ่งเป็นตัวดั้งเดิมของสังสารวัฏฏ์ จิตหายหลงเมื่อใด ก็จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเมื่อนั้น
(อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้งในหลักธรรมอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และข้อปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์
วิชชา คือ ความรู้แจ้งในหลักธรรมอริยสัจ ๔ ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว เหตุแห่งทุกข์ได้กำหนดละแล้ว การดับทุกข์ได้ทำให้แจ้งแล้ว และข้อปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ได้เจริญแล้ว)

วิชชา และอวิชชา จึงเกิดที่ฐีติภูตํ เช่นเดียวกัน
ฐีติภูตํ คือ จิตเดิมแท้นั้น ไม่มีอาการของผู้หลุดพ้น
ฐีติภูตํ เป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวเพราะอุปกิเลส (เป็นของปลอม) ซึ่งจรมาทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้ปฏิบัติต้องทำลายของปลอมให้หมดสิ้นไป ของปลอมก็ไม่สามารถเข้าถึงฐีติภูตํได้ แม้จะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ทางโลกอยู่ ก็ดุจน้ำกลิ้งบนใบบัว

( อุปกิเลส ๑๖ ได้แก่ โลภ พยาบาท โกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่บุญคุณท่าน ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ มารยา โอ้อวด กระด้าง แข่งดี ถือตัว ดูหมิ่น มัวเมา และประมาท) 

เทศน์ภายใน...หลวงปู่แหวน สุจินโน




เทศน์ภายใน

(หลวงปู่แหวน สุจินโน  วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่)

 
เทศน์ภายนอกคล้ายกับแผนที่ตำรับตำรา เราต้องเทศน์ภายใน ให้ภาวนา เอากายเป็นมรรค เอากายเป็นผล จงพากันละอุปาทานทั้ง ๕ (ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) อนิจจังทั้ง ๕ ทุกขังทั้ง ๕ อนัตตาทั้ง ๕ ละรูปธรรม (ดิน น้ำ ลม ไฟ) นามธรรมนี้ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

วางได้มันก็เป็นธรรมนั่นแหละ ! วางไม่ได้ มันก็ยึดเอารูปธรรม นามธรรม เป็นตัวเป็นตน มันก็เป็นทำเมาอยู่นั่นเอง เมื่อละวางสิ่งสมมุติทั้งหลายเหล่านี้ได้ มันก็สบาย จิตก็สงบลง

ทำเมานี่ ! ลำบากหนา มันเอาเรื่องมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โน่น ! เวลามันตั้งขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาแต่ไหนก็ไม่รู้มัน 

      ทำเมานี่ ! มันสำคัญ พอเผลอขึ้นมา มาแล้ว มันมาคิดเมานึกไปเสียแล้ว



วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตผู้ทรงคุณอันบริสุทธิ์ ..หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตผู้ทรงคุณอันบริสุทธิ์
(บันทึกโดย ... หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร)

• “ท่านอาจารย์มั่น เป็นคนเด็ดเดี่ยว สละชีวิตถึงตาย สลบไป ๓ คราว และท่านต้องการคนใจเด็ดเป็นสานุศิษยฯ
 • “ท่านภาวนาสถานที่เป็นมงคล มีเทวดามานมัสการตั้งหมื่น ท่านรู้ได้ด้วยภาวนาขั้นละเอียดฯ อมนุษย์ท่านก็รู้ได้
• “ท่านทำตัวของท่านใหม่อยู่ในตระกูลทั้งหลาย  ไม่ทำตัวของท่านให้คุ้นเคยในตระกูลเลย  การไปมาของท่านไปโดยสะดวก  มาโดยสะดวกไม่ขัดข้องในตระกูล
• “เป็นคนมักน้อยชอบใช้บริขารของเก่าๆ  ถึงได้ใหม่บริจาคทานให้คนอื่น ข้อวัตรหมดจดดี  สติตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเสมอ  เป็นผู้ไม่ละกาลวาจาพูดก็ดี เทศน์ก็ดี ไม่อิงอามิส ลาภ สรรเสริญ วาจาตรงตามอริยสัจ ตามความรู้ความเห็น  อ้างอริยสัจเป็นหลักฐานเสมอ กาย วาจา ใจ เป็นอาชาไนยล้วน
• “ท่านประพฤติตนเป็นคนขวนขวายน้อยในอามิส หมดจดในข้อวัตร และหมดจดในธรรมะ พ้นวิสัยเทวดา และมนุษย์ที่จะติเตียนได้  ไม่เป็นข้อล่อแหลมในศาสนา ท่านได้วัตถุสิ่งใดมา  ท่านสละทันที  สงเคราะห์หมู่พรหมจรรย์ ฯ
• “สิ่งของอันใดท่านอยู่ที่ไหน เขาถวาย ท่านก็เอาไว้ให้พระเณรใช้ ณ ที่นั้น ท่านไม่ได้เอาไปด้วย ฯ
• “มีคนไปหาท่านอาจารย์มั่น ท่านไม่ดูคน ท่านดูจิตของท่านเสียก่อน จึงแสดงออกไปต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น  อนึ่ง ท่านหันข้าง และหันหลังใส่แขก ท่านพิจารณาจิตของท่านก่อน แล้วพิจารณานิสัยของผู้อื่น นี้เป็นข้อลี้ลับมาก  ต่อนั้นถ้าจะเอาจริงจังต้องประชันต่อหน้ากัน จึงเห็นความจริงฯ
• “จิตของท่านผ่าอันตรายลงไปถึงฐานของธรรมะนี้ มีราคามาก บ่งความเห็นว่าเป็นอาชาไนยโดยแท้
• “ปฏิบัติธรรมท่านพูดทรมานใครแล้ว  ย่อมได้ดีทุกๆ คน ถ้าหมิ่นประมาทแล้วย่อมเกิดวิบัติใหญ่โต
• “ท่านมีนิสัยปลอบโยน เพื่อคัดเลือกคนดีหรือไม่ดี  ในขณะท่านพูดเช่นนั้น ท่านหันกลับเอาความจริง  เพราะกลัวศิษย์จะเพลิน ฯ
• “นิสัยท่านเป็นคนใจเดียว ไม่เห็นแก่หน้าบุคคล  ในเวลาถึงคราวเด็ดเดี่ยวต่อธรรมะวินัยจริงๆ ฯ
• “ท่านเป็นคนไม่อวดรู้  แต่ธรรมะของท่านบอกเหตุผลไปต่างหาก  นี้เป็นข้อพึงวินิจฉัย
• “หาบุคคลที่จะดูจริตของท่านรู้ได้ยาก เพราะท่านเป็นคนนิสัยลึกลับ  จะรู้นิสัยได้  ต่อเมื่อบุคคลที่มีภูมิจิตส่วนเดียว ฯ
• “ท่านผู้มีอำนาจในทางธรรมะ ทำอะไร ? ได้ไม่ครั่นคร้าม  ชี้เด็ดขาดลงไป  ไม่มีใครคัดค้าน  นี่ เป็นอัศจรรย์มาก ฯ
• “ท่านถือข้างใน ปฏิปทาความรู้ความเห็นของท่าน  เกิดจากสันตุฎฐี   ความสันโดษของท่าน  ท่านมีนิสัยไม่เป็นคนเกียจคร้าน  ขยันตามสมณกิจวิสัย  หวังประโยชน์ใหญ่ในศาสนา ฯ
• “ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้ที่สะอาด ไตรจีวร และเครื่องอุปโภคของท่าน  ไม่ให้มีกลิ่นเลย ถูกย้อมบ่อยๆ
• “ท่านบวชในสำนักพระอรหันต์ ๓ องค์ แต่เมื่อชาติก่อนๆ โน้น
• “ท่านไม่ใคร่พยากรณ์ใครๆ เหมือนแต่ก่อน ท่านพูดแต่ปัจจุบันอย่างเดียว นิสัยท่านชอบเก็บเอาเครื่องบริขารของเก่าไว้ใช้  เพราะมันภาวนาดี  เช่นจีวรเก่าเป็นต้น ฯ
• “ท่านไม่ติดอามิส ติดบุคคล  ติดลาภ  ยศ  สรรเสริญ  ท่านถือธรรมะเป็นใหญ่ ไปตามธรรมะ อยู่ตามธรรมะฯ
• “ท่านพูดธรรมะไม่เกรงใจใคร  ท่านกล้าหาญ  ท่านรับรองความรู้ของท่าน ฉะนั้น ท่านจึงพูดถึงพริกถึงขิง ตรงอริยสัจ พูดดังด้วย พูดมีปาฏิหาริย์ด้วย เป็นวาจาที่บุคคลจะให้สิ้นทุกข์ได้จริงๆ  เป็นวาจาที่สมถะวิปัสสนาพอ  ไม่บกพร่อง
    กำหนดรู้ตามในขณะกาย วาจา จิตวิกาลตรงกับไตรทวาร  สามัคคีเป็นวาจาที่เด็ดเดี่ยว ขลังดีเข้มแข็งดี  เป็นอาชาไนยล้วน วาจาไม่มีโลกธรรมติด  เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ พระเณรอยู่ในอาวาสท่านได้สติมาก  เพราะบารมีของท่าน  ถ้าขืนประมาทท่านเกิดวิบัติ ฯ
• “ท่านอาจารย์มั่น เทวดาและอมนุษย์ไปนมัสการท่าน เท่าไรพันหรือหมื่นท่านกำหนดได้
• “ท่านรักษาระวังเทวดามนุษย์ประมาทท่าน เช่น เยี่ยงท่านก็มีระเบียบ แม้กิจเล็กๆ น้อยๆ เป็นระเบียบหมด ฯ
• “ท่านอาจารย์ท่านพูดโน้น  คำนี้อยู่เสมอ เพื่อจะให้สานุศิษย์หลง เพื่อละอุปาทานถือในสิ่งนั้น ๆ ท่านทำสิ่งที่บุคคลไม่ดำริไว้  สิ่งใดดำริไว้ท่านไม่ทำ นี้ส่อให้เห็นท่านไม่ทำตามตัณหาของบุคคลที่ดำริไว้ ฯ
• “จิตของท่านอาจารย์มั่นผ่าอันตรายลงไป ตั้งอยู่ด้วยอมตธรรม บริบูรณ์ด้วยมหาสติ  มหาปัญญา  มีไตรทวารรู้รอบ  มิได้กระทำความชั่วในที่ลับ และที่แจ้ง และมีญาณแจ่มแจ้ง  รู้ทั้งเหตุผลพร้อมกัน  
     เพราะฉะนั้นแสดงธรรมมีน้ำหนักมาก  พ้นวิสัยคนที่จะรู้ตามเห็นตาม  เว้นแต่บุคคลบริบูรณ์ด้วยศีล และสมาธิมาแล้ว  อาจที่ฟังเทศนาท่านเข้าใจแจ่มแจ้งดี  และบุคคลนั้นทำปัญญาสืบสมาธิต่อ ฯ
• “จิตท่านอาจารย์มั่นตื่นเต้นอยู่ด้วยความรู้  ไม่หยุดนิ่งได้  มีสติรอบเสมอ ไม่เผลอทั้งกาย และวาจา  เป็นผู้มีอริยธรรมฝังมั่นอยู่ในสันดาน  ไม่หวั่นไหว  ตอนนี้ไม่มีใครที่จะค้านธรรมเทศนาของท่านได้  เพราะวาจาเป็นอาชาไนย  และมีไหวพริบแก้ปฤษณาธรรมกายได้ ฯ
• “ธาตุของท่านอาจารย์เป็นธาตุนักรู้  เป็นธาตุที่ตื่นเต้นในทางธรรมะ เป็นผู้ที่รู้ยิ่งเห็นจริงในอริยสัจธรรม  ท่านดัดแปลงนิสัยให้เป็นบรรพชิต  ไม่ให้มีนิสัยติดเพศติดสันดาน ท่านประพฤติตนของท่านให้เทวดา และมนุษย์เคารพ  และท่านไม่ประมาทในข้อวัตรน้อยใหญ่ ฯ
• “ท่านไม่ให้จิตของท่านนอนนิ่งอยู่อารมณ์อันเดียว ท่านกระตุกจิต จิตของท่านค้นคว้าหาเหตุหาผลของธรรมะอยู่เสมอ  ท่านหัดสติให้รอบรู้ในอารมณ์และสังขารทั้งปวงฯ
• “ท่านอาจารย์มั่น ท่านเก่งทางวิปัสสนา ท่านเทศน์ให้บริษัทฟัง สัญญา มานะเขาลด  เจตสิกเขาไม่เกาะ เมื่อไม่เกาะเช่นนั้น  ยิ่งทำความรู้เท่าเฉพาะในจิต  ตรวจตราในดวงจิต  ขณะที่นั่งฟัง  ต่อนั้นจะเห็นอานิสงส์ทีเดียว  ไม่ทำเช่นนั้นหาอานิสงส์การฟังธรรมมิได้  ถ้าประมาทแล้ว  จะเกิดวิบัติ เพราะราคะ มานะ ทิฐิของตน วินิจฉัยธรรมมิได้
• “ท่านเทศน์อ้างอิงตำรา และแก้ไขตำรา ดุจของจริงทีเดียว  เพราะท่านบริบูรณ์วิปัสสนา และสมถะพอ  และท่านยกบาลีเป็นตัวเหตุผลแจ่มแจ้ง
• “อุบายจิตของท่านอาจารย์มั่น ท่านพอทุกอย่าง  ไม่บกพร่อง คือพอทั้งสมถะ พอทั้งวิปัสสนาทุกอย่าง  เพราะฉะนั้น   ท่านเทศนาจิตของผู้ฟังหด และสงบ  และกลัวอำนาจ  เพราะนิสัยคนอื่นไม่มีปัญญาที่จะชอนเข็มโต้ถามได้  ตรงกับคำว่าพอทั้งปัญญา  พอทั้งสติ  ทุกอย่างเป็นอาชาไนยล้วน  รวบรัดจิต เจตสิกของคนอื่นๆ มิอาจจะโต้แย้งได้
• “ท่านว่าแต่ก่อนท่านเป็นคน 'โกง' คน 'ซน' คน 'มานะกล้า' แต่ท่านมีธุดงค์ข้อวัตรทุกอย่างเป็นยอด  ทำความรู้เท่าทันกิเลสเหล่านั้น  เดี๋ยวนี้ นิสัยก่อนนั้นกลายเป็นธรรมล้วน เช่น 'โกงสติ' 'ซนสติ' 'มานะสติ'
เป็นคุณสมบัติสำหรับตัวของท่าน  ความรู้ความฉลาดของท่าน  ไปตามธรรมคืออริยสัจ  ใช้ไหวพริบทุกอย่าง ตรงตามอริยสัจ  ตรงกับคำว่าใช้ธรรมเป็นอำนาจ  คณาจารย์บางองค์ถืออริยสัจก็จริง แต่มีโกงนอกอริยสัจ  เป็นอำนาจบ้างแฝง  แฝงอริยสัจ  ตรงกับคำที่ว่า ใช้อำนาจเป็นธรรมแฝงกับความจริง
• “ท่านอาจารย์เป็นนักปราชญ์แปดเหลี่ยมคม คมยิ่งนัก ธรรมชาติจิตของท่านที่บริสุทธิ์นั้น  กลิ้งไปได้ทุกอย่าง และไม่ติดในสิ่งนั้นด้วย  ดุจน้ำอยู่ในใบบัว กลิ้งไปไม่ติดกับสิ่งอื่นๆ เพราะฉะนั้นจิตของท่านถึงผลที่สุดแล้ว  มิอาจจะกระทำความชั่วในที่ลับ และที่แจ้ง  เพราะสติกับปัญญา รัดจิตบริสุทธิ์ให้มั่นคง  ใช้ไหวพริบเป็นอาชาไนยอยู่เนืองนิตย์