วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การปฏิบัติธรรมแนวพระราชดำริฯ "กระแสปูทะเลมหาวิชชาลัย.



การปฏิบัติสู่"กระแสปูทะเลมหาวิชชาลัย"  
ตามแนวพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดูลยเดชฯ
*****
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงปรารถนาให้ประชาชนของพระองค์ มีความสามารถแสวงหาปัจจัย ๔ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข ที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของวิทยาการ และปัญญา โดยไม่สร้างปัญหาความเดือนร้อนให้เกิดขึ้นกับตนเอง และสังคม แต่กลับก่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และสังคมส่วนใหญ่

การพัฒนาตนเอง และสังคมให้มีศักยภาพที่แข็งแรงได้ ตามพระราชดำริในพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก เกี่ยวกับการทำงานมุ่งสู่ "กระแสปูทะเลมหาวิชชาลัย" ประชาชนทุกคน ต่างพัฒนาตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อในกฎแห่งกรรม ต่างเว้นชั่ว ทำดี ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

สาระสำคัญประโยชน์แท้แก่มหาชน เปรียบบุคคลด้วยน้ำ ๗ ประการ ได้แก่
๑. จมครั้งเดียวแล้วจมลงไปเลย คือ คนชั่ว คนใจบาป ใฝ่ต่ำ ยากที่จะสอน และพัฒนาให้ดีขึ้นมาได้ ในพระพุทธศาสนาจัดเป็นกลุ่มปทปรมะ บัวเหล่าที่ ๔ (ในบัว ๔ เหล่า) เป็นผู้ขาดปัญญา จมอยู่ใต้อำนาจกิเลสตัณหาไม่มีใครสามารถอบรมสั่งสอนให้ดีขึ้นมาได้ มีอบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดียรัจฉานเป็นที่ไป

๒. โผล่ขึ้นแล้วก็จม คือ ปุถุชน (ผู้หนาด้วยกิเลส) ได้พยายามพัฒนาตนให้เป็นคนดี แต่ไม่สามารถรักษาความดีนั้นไว้ได้ กลับตกอยู่ใต้กิเลสตัณหา ก่อทุกข์โทษให้เกิดขึ้นกับตนเอง และผู้อื่น ต่อไปอีก

๓. โผล่ขึ้นแล้วลอยอยู่ได้ คือ กัลยาณปุถุชน ได้แก่ บุคคลผู้หนาด้วยกิเลส แต่ยอมรับฟังคำสอนของผู้รู้ หรือนักปราชญ์ ได้น้อมนำมาพัฒนาตนเองมีความตั้งใจเว้นชั่ว ทำดี แต่ยังตัดกิเลส อันผูกใจสัตว์ให้ติดอยู่กับโลก คือ สังโยชน์เบื้องต้น ได้แก่ สังโยชน์ ๓ ยังไม่ได้ ยังไม่พ้นอบายภูมิ ๔

๔. โผล่ขึ้นแล้วเห็นแจ่มแจ้ง คือ ผู้เข้าสู่กระแสธรรม (พระนิพพาน) เป็นอริยบุคคลระดับ พระโสดาบัน มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่เห็นผิดเป็นชอบ จะเวียนว่ายตายเกิดในเทวโลก และมนุษยโลก อย่างมาก ๗ ชาติ (พระโสดาบันสัตตักขัตตุงปรมะ) อย่างกลาง ๒-๓ ชาติ (พระโสดาบันโกลังโกละ) อย่างน้อย ๑ ชาติ(พระโสดาบันเอกพีชี) ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันจะไม่ลงไปในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย และเดียรฉานอีก สามารถตัดสังโยชน์(กิเลสร้อยรัดจิตไว้กับภพ)ได้ ๓ ประการได้แก่

๔.๑. สักกายทิฎฐิ คือ มีความเห็นว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ (ได้แก่รูป และนามนี้) เป็นตัวเป็นตน เป็นของของตน
๔.๒ วิจิกิจฉา คือ มีความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ ในคุณของพระรัตนตรัย
๔.๓ สีลัพพตปรามาส คือ การยึดมั่นในศีลพรต มีการประพฤติปฏิบัติตามกันมาอย่างงมงาย อย่างขาดเหตุผล ด้วยเห็นว่าเป็นของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์

        ๕. โผล่ขึ้นแล้วว่ายเข้าหาฝั่ง เปรียบดังพระอริยบุคคลระดับ พระสกทาคามี ผู้สามารถตัดกิเลส คือสังโยชน์ ๓ ได้เช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่มีกิเลส คือ ราคะ โทสะ และโมหะ เบาบางกว่าพระโสดาบัน จะเวียนว่ายตายเกิดในเทวโลก และมนุษยโลก อีกชาติเดียวก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์

       ๖. โผล่ขึ้นแล้วไปถึงที่ตื้น หยั่งพื้นทะเลได้ เปรียบดังพระอริยบุคคลระดับ พระอนาคามีแปลว่า ผู้ไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก เมื่อละสังขารแล้วก็จะไปจุติที่พรหมโลก และเข้าสู่พระนิพพานที่พรหมโลกเลย พระอนาคามีละสังโยชน์เบื้องต่ำได้หมดทั้ง ๕ ข้อ ละเพิ่มมากกว่าพระโสดาบัน และพระสกทาคามี อีก ๒ ข้อ คือ

๖.๑ กามราคะ คือ ความกำหนัดยินดี หรือติดใจในกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารักน่าใคร่ น่าพึงปรารถนา
๖.๒ ปฎิฆะ คือ ความหงุดหงิดขัดเคืองใจ เกิดจากความกระทบกระทั่งใจ(เบากว่าโทสะ)

๗. โผล่ขึ้นแล้วข้ามฝั่งได้ ยืนอยู่บนบกได้ เปรียบดัง พระอรหันต์ เป็นพระอริยบุคคลในระดับสูงสุดในพระพุทธศาสนา ผู้ดับเพลิงกิเลสซึ่งเป็นเชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้หมดโดยสิ้นเชิง เมื่อละสังขารแล้ว ก็เข้าสู่พระนิพพาน พระอรหันต์สามารถละสังโยชน์เบื้องสูงได้หมดทั้ง ๑๐ ข้อ เพิ่มจากพระอนาคามีอีก ๕ ข้อ คือ

๗.๑ รูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรืออรูปธรรมอันประณีต (รูปพรหมมี ๑๖ชั้น )
๗.๒ อรูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌานหรือ
อรูปธรรม มีความปราถนาในอรูปภพ (อรูปพรหมมี ๔ ชั้น)
๗.๓ มานะ คือ ความสำคัญตนว่าตนเป็นนั่น เป็นนี่ เช่น เลิศกว่าเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา เลิศกว่าเขาสำคัญตนว่าเสมอกว่าเขา เลิศกว่าเขาสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา, เสมอเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา เสมอเขาสำคัญตนว่าเสมอกว่าเขา เสมอเขาสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา, ด้อยกว่าเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา ด้อยกว่าเขาสำคัญตนว่าเสมอกว่าเขา ด้อยกว่าเขาสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา
๗.๔ อุทธัจจะ คือ ความคิดฟุ้งซ่านในทางกุศลกรรม
๗.๕ อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง ไม่รู้จริง ในหลักธรรมอริยสัจ ไตรลักษณ์และปฎิจจสมุปบาท

(สังโยชน์ ๑๐ คือ กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น