วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์แห่งการศึกษา...พระพรหมคุณาภรณ์



พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์แห่งการศึกษา
(พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

คำว่า  "ศึกษา"  เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับคำภาษาบาลี คือ  "สิกขา"   หลักการศึกษาในพระพุทธศาสนา คือ หลักไตรสิกขา (มรรคมีองค์ ๘) ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการศึกษาอย่างมีความสุข ผลที่ได้รับก็เป็นความสุข และความสุขสูงสุดคือ "นิพพาน"
มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขา เป็นองค์ประกอบของหลักธรรมอริยสัจ ๔  คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ต้นโพธิ์  ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พุทธคยา ประเทศอินเดีย

การปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาหรือสิกขา ๓  ได้แก่ 
๑. การรักษาศีล ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗  ตามเพศของตน  การรักษาศีลเป็นการละเว้นไม่กระทำความชั่ว ไม่ก่อเวรสร้างกรรมชั่วใดๆ จะทำให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน สังคมทั่วไป ทำกิจการงานใดๆ ก็จะสำเร็จเจริญก้าวหน้า มีโภคทรัพย์มั่นคง ไม่พบกับความวิบัติ และเป็นเส้นทางไปสู่พระนิพพาน
๒. การทำสมาธิ  คือการทำจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรม ให้สงบจากกิเลสตัณหา จิตใจของผู้ปฏิบัติจะมีความสุข สงบ เยือกเย็น  ผ่อนคลายหายเครียด ทำกิจการงานใดๆ ก็สามารถทำได้ดี มีประสิทธิภาพสูง และเพื่อพัฒนาจิตให้ก้าวไปสู่อริยมรรค อริยผลต่อไป
๓. การเจริญปัญญา คือ การฝึกฝนอบรมพัฒนาปัญญา ให้รู้และเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทัน เห็นแจ้งโลกตามสภาวะ สามารถทำจิตให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสตัณหา ปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา ด้วยรู้แจ้งชัดในอริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ รู้อกุศลและอกุศลมูล กับกุศลและกุศลมูล เห็นปฏิจจสมุปบาท สามารถปล่อยวาง ถอนการยึดมั่นถือมั่นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นของตนได้ จนสำเร็จเป็นอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอานาคามี และพระอรหันต์ได้ในที่สุด


พระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น ๔ จำพวก คือ
๑. พระโสดาบัน เป็นอริยบุคคลขั้นต้นในพระพุทธศาสนา ผู้เข้าถึงกระแสพระนิพพาน ตัดสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ๓ ข้อ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส จะกลับมาเวียนว่ายตายเกิดระหว่างมนุสสโลก และเทวโลกอีก อย่างมาก ๗ ชาติ อย่างกลาง ๓ ชาติ อย่างน้อย ๑ ชาติ จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์
๒. พระสกิทาคามี  เป็นอริยบุคคลขั้นที่ ๒ ในพระพุทธศาสนา ตัดสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ๓ ข้อ เช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบางกว่าพระโสดาบัน จะกลับมาเวียนว่ายตายเกิดระหว่างมนุสสโลก และเทวโลกอีก อีก ๑ ชาติ ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์
ภ ระอนาคามี เป็นอริยบุคคลขั้นที่ ๓ ในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ที่ไม่กลับมาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีก ตัดสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ๕ ข้อ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะได้ จะจุติในพรหมโลก สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในพรหมโลก
๔. พระอรหันต์ เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ตัดสังโยชน์ ๑๐ ทั้งเบื้องต่ำและ เบื้องสูงได้หมดทุกข้อ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา เป็นผู้ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป

สังโยชน์ ๑๐ คือ กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตให้ติดอยู่กับภพ หรือการเวียนว่ายตายเกิด มี ๑๐ ประการ  ได้แก่
๑. สักกายทิฏฐิ  คือ มีความเห็นว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ(รูป และนาม) เป็นตัวเป็นตน เป็นของของตน
๒. วิจิกิจฉา คือ มีความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ในคุณของพระรัตนตรัย และผลการปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘
๓. สีลัพพตปรามาส คือ การยึดมั่นในศีลพรต มีการประพฤติปฏิบัติตามกันมาอย่างงมงายอย่างขาดเหตุผลด้วยเห็นว่า เป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้คิดปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสตัณหาให้สิ้นไป
๔. กามราคะ คือ ความกำหนัดยินดี หรือติดใจในกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส)
๕. ปฏิฆะ คือ ความหงุดหงิดขัดเคืองใจ ความกระทบกระทั่งใจ  
๖. รูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือรูปธรรมอันประณีต(รูปพรหม)  
๗. อรูปราคะ คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรืออรูปธรรม มีความปรารถนาในอรูปภพ  (อรูปพรหม) 
๘. มานะ คือ ความสำคัญตนว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น ตนเลิศกว่าเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา ตนเลิศกว่าเขาสำคัญตนว่าเสมอกว่าเขา ตนเลิศกว่าเขาสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา ตนเสมอเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา ตนเสมอเขาสำคัญตนว่าเสมอกว่าเขา ตนเสมอเขาสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา ตนด้อยกว่าเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา ตนด้อยกว่าเขาสำคัญตนว่าเสมอกว่าเขา ตนด้อยกว่าเขาสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา
๙. อุทธัจจะ คือ ความคิดฟุ้งซ่านในทางกุศลกรรม ยังพิจารณาธรรมเพื่อการหลุดพ้น
๑๐. อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้งชัด ไม่รู้จริง อย่างครบถ้วนสมบูรณ์บริบูรณ์ในหลักธรรมอริยสัจ ๔

 เป้าหมายสูงสุดของพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน ซึ่งเป็นบรมสุข ดังพระพุทธพจน์  "นิพพานํ ปรมํ สุขํ"  สุขอื่นใดเสมอพระนิพพานนั้นไม่มี  เป็นสุขที่ปราศจากกิเลสตัณหาทั้งปวงโดยสิ้นเชิง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น